บางจากฯ เตรียมหารือ ธปท. หลังปรามการใช้ “คริปโตฯ”ชำระค่าสินค้า

ผู้ชมทั้งหมด 723 

ซีอีโอ บางจากฯ เตรียมหารือ ธปท.หลังประกาศไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ ขณะที่ บางจากฯ พร้อมสนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ตามไลฟ์สไตล์ รับเทรนด์เทคโนโลยีใหม่

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ เรื่อง ธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางการกำกับการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระสินค้าและบริการ

โดย นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ติดตามการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางการเงิน รวมถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในรูปแบบที่เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการแจ้งเตือนเป็นระยะ และขอย้ำว่า ธปท. ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ที่จะส่งผลต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหาย  ในระยะต่อไป หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอย่างแพร่หลาย ความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยที่ผ่านมา มีบางประเทศจำกัดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในขอบเขตเพื่อการลงทุนเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับดูแลที่เหมาะสม  

ปัจจุบัน ธปท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อจำกัดความเสี่ยงข้างต้น โดยจะยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบการชำระเงิน รวมถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทย เริ่มนำเงินดิจิทัลเข้ามาใช้ในการลงทุน ทั้งการนำมาใช้แลกเปลี่ยนในการชำระค่าสินค้าและบริการมากขึ้น ซึ่งจะพบเห็นได้ทั้งร้านค้าขนาดเล็ก และใหญ่  เช่น กลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป รวมถึงภาคการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สายการบินแอร์เอเชีย , สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ก็เปิดรับชำระค่าตั๋วด้วยคริปโตฯ เป็นต้น

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้า เช่น กลุ่มบางจากฯ โดยบริษัทลูก บีซีพีจี เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายแรกของไทย ได้นำ ระบบบล็อกเชนมารองรับการซื้อขายไฟฟ้าในโครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77  ซึ่งประสบความสำเร็จในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาคาร และปัจจุบัน โครงการนี้ ได้เข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก่อนนำไปสู่การปลดล็อกกฎระเบียบเพื่อนำเดินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ขณะที่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นธุรกิจพลังงานรายแรกที่เปิดบริการรับชำระด้วยคริปโตเคอร์เรนซีเพื่อเพิ่มความสะดวก เป็นทางเลือกและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า พร้อมทั้งตอบโจทย์ความต้องการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตยุคดิจิทัล (Digital Experience) โดยร่วมมือกับ บริษัท บิทาซซ่า จำกัด ซึ่งเป็นนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) ชั้นนำของไทย (www.bitazza.com) อีกทั้ง

บิทาซซ่ายังมีโซลูชั่นในการแปลงคริปโตเคอร์เรนซีเป็นเงินบาททันที ซึ่งสะดวกต่อทั้งผู้ประกอบการและลูกค้าที่ไม่ต้องรับความผันผวนของมูลค่าคริปโตเคอร์เรนซี

บางจากฯ เริ่มรับชำระด้วยคริปโตเคอร์เรนซีที่ร้านกาแฟอินทนิลตั้งแต่ 1 ธ.ค.2564 จำนวน 21 สาขาและจะเพิ่มอีก 100 สาขา ในวันที่ 1 มกราคม 2565 ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจะขยายไปทั่วประเทศภายในไตรมาส 2 รวมทั้งมีแผนจะขยายสู่ธุรกิจอื่น ๆ ของบางจากฯ เช่น ธุรกิจคาร์แคร์ สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บางจากฯ เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากที่ ธปท.ประกาศ ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ ในณะที่ บางจากฯ พร้อมส่งเสริมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ตามไลฟ์สไตล์ และเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับวิถีชีวิตยุคดิจิทัล (Digital Experience)