บีทีเอส แจงข้อเท็จจริงสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายไม่ผิดกฎหมาย จี้กทม.จ่ายหนี้ด่วน

ผู้ชมทั้งหมด 666 

บีทีเอส ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายไม่ผิดกฎหมาย วอนให้กรุงเทพฯ – กรุงเทพธนาคม จ่ายค่าเดินรถ 11,000 ล้านบาท ด่วน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่  17 ม.ค. ณ ห้องประชุม ชั้น G อาคารบีทีเอส สำนักงานใหญ่ นายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส  พร้อมด้วยพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ และนายสยาม สีวราภรณ์สกุล ผู้อำนวยการใหญ่สายงานกฎหมาย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวกรณีที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนถึงข้อมูล สัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงห้าแยกลาดพร้าว-คูคต เป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งกล่าวอ้างว่าบริษัทฯ ว่าใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต เพราะทราบดีว่า เคทีไม่สามารถจ้างเดินรถได้ด้วยตนเอง แต่ก็ยังสมัครใจทำสัญญากับเคที และมาฟ้องเคทีเป็นคดีนั้น

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า บริษัทฯ ขอชี้แจงว่าข้อมูลที่กรุงเทพธนาคม เผยแพร่ต่อสาธารณชน เป็นข้อมูลที่ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย ทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ตลอดจนทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของบริษัทฯ ต่อสาธารณชน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าบริษัทฯ ไม่สุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย

เพื่อเป็นการปกป้องชื่อเสียงของบริษัทฯ จึงจำเป็นต้องอธิบายให้ประชาชนรับทราบถึงความถูกต้องในการดำเนินการของบริษัทฯ เกี่ยวกับการรับจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ว่า บริษัทฯ ไม่มีสิทธิหรือความเกี่ยวข้องใด ๆ ในกระบวนการอนุมัติและการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรุงเทพธนาคม และเชื่อมั่นมาโดยตลอด ว่ากรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม ซึ่งโดยปกติจะมีคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และหรือข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และถูกต้องแล้ว

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าทั้งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 เฉพาะในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอเพื่อรับคัดเลือกเป็นผู้รับจ้าง และการเจรจาสัญญาว่าจ้างเท่านั้น ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าว บริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกฎเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับจ้างอย่างถูกต้องครบถ้วน ดังนั้น การเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ของบริษัทฯ จึงเป็นไปโดยสุจริต และถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งมีผลทำให้สัญญามีความชอบด้วยกฎหมาย และผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ปี 2555 และคู่สัญญาได้ถือปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวมาโดยตลอด

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของสัญญานั้น ขอตั้งข้อสังเกตว่า หากเคทีคิดว่าสัญญาไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุใดที่ผ่านมาจึงมีการจ่ายเงินค่าจ้างได้ และหลังจากนี้จะให้บีทีเอสทำอย่างไร หรือจะแจ้งให้บีทีเอสหยุดเดินรถ แต่วันนี้บีทีเอสขอยืนยันว่ายังคงทำตามนโยบายของนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ให้บริการเดินรถโดยไม่หยุด เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบในการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบีทีเอสเดินรถครบตามสัญญา จึงอยากขอความเห็นใจจาก กทม. และเคที ให้ชำระหนี้ ที่ศาลมีคำตัดสินให้ต้องจ่ายแล้ว อย่ามาอ้างว่าสัญญาไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง การทำแบบนี้จะยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป ซึ่งทำให้บีทีเอสเดือดร้อน เนื่องจากทุกวันนี้บริษัทฯต้องกู้ยืมเงินมาดำเนินงานให้การเดินรถยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องได้

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบีทีเอส ฟ้องร้องให้ กทม. และเคที ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถที่ค้างไว้ 2 คดี โดยคดีที่ 1 ได้ฟ้องร้องให้ชำระหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน พ.ค.62 จนถึงวันที่ 1 ก.ค. 64 เป็นเงินประมาณ12,000 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้พิพากษาคดีนี้ ให้ กทม. และเคที ร่วมกันรับผิดชอบชำระหนี้ แต่คดียังไม่สิ้นสุดมีการอุทธรณ์ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุด

ขณะที่คดีที่ 2 เป็นการฟ้องร้องเพิ่มเติมกรณีเดียวกัน เมื่อวันที่ 22 พ.ย.65 เป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 ถึงวันที่ 20 พ.ย.65 เป็นจำนวนเงินประมาณ 11,000 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนที่ศาลฯ ให้ กทม. และเคทีทำข้อมูลชี้แจงข้อเท็จจริง  ส่งผลให้ปัจจุบันบีทีเอส ฟ้องร้องให้ กทม. และเคที ชำระหนี้สินค่าจ้างเดินรถรวม 23,000 ล้านบาท ยอดหนี้นี้ยังไม่รวมกับค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่บริษัทฯต้องเรียกเก็บอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท รวมแล้วมีหนี้ที่บริษัทต้องแบกรับอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทแล้ว

ด้าน พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาซ้อนปัญหา จะจบตรงไหน ใครจะรับผิดชอบ ซึ่งการที่คู่ความจะต่อสู้คดีก็เป็นสิทธิ์โดยชอบทางกฎหมาย แต่การที่เคทีนำประเด็นการต่อสู้ในศาลฯ มาเผยแพร่ผ่านลงโซเชียลมีเดีย และข้อความนั้นก็ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบีทีเอส ทำให้ประชาชนอาจเข้าใจผิดได้ว่า บีทีเอสเป็นคนเลว และสมคบกับเคที

ดังนั้นผู้บริหารของบีทีเอสจึงนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องออกมาชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง และยังมีความหมิ่นเหม่ที่เคทีจะกระทำผิดกฎหมาย เพราะเมื่อประกาศออกมายอมรับว่าสัญญาส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนี้จะทำอย่างไร จะไปต่อสู้กันในศาล หรือจะแจ้งให้บีทีเอสยกเลิกเดินรถ ซึ่งก็จะกระทบต่อประชาชน

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า เคทีกำลังสร้างปัญหาซ้อนปัญหา และปัญหาก็ไม่ได้ตกอยู่กับเคที แต่คนที่เกิดปัญหาคือ ประชาชนอีกหลายแสนชีวิตถ้าต้องมีการยกเลิกเดินรถ ต่อไปจะมีเอกชนรายไหนกล้ามาทำสัญญากับภาครัฐอีก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคทีไม่เคยพูดว่าสัญญาชอบ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้บีทีเอสเดินรถมาตลอด แต่วันนี้มาบอกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอยากเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะบีทีเอสทำทุกอย่างด้วยความสุจริตและปฏิบัติตามสัญญามาโดยตลอด

ทั้งนี้การทำงานทุกวันนี้ไม่ได้ค่าจ้างก็หนักหนาสาหัสพอแล้ว ยังมาถูกกล่าวหาว่าเป็นคนเลว และคนไม่ดีอีก คงไม่มีใครทนได้ บีทีเอสจึงต้องการกำลังใจ และอยากให้ประชาชนเข้าใจ เพราะสิ่งที่เคทีเผยแพร่มีความบั่นทอนกำลังใจของบีทีเอสมาก เหมือนเราเป็นตัวร้าย ทั้งที่เราแบกภาระแทนรัฐ ให้เราทำงานให้แทน และไม่จ่ายเงินให้