บีไอจี ประกาศทรานส์ฟอร์มองค์กรพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจด้วย 5 เทรนด์ Climate Technology

ผู้ชมทั้งหมด 521 

บีไอจี ประกาศทรานส์ฟอร์มองค์กร พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจด้วย 5 เทรนด์ Climate Technology ชูศักยภาพคลีนไฮโดรเจน เทคโนโลยีสมาร์ทแพลตฟอร์ม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หวังบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี) กล่าวว่า บีไอจี เป็นบริษัทในเครือแอร์โปรดักส์ (Air Products) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมก๊าซ อุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินธุรกิจมากว่า 35 ปีในประเทศไทย ได้ประกาศทรานส์ฟอร์มองค์กร พร้อมรุกด้าน  Climate Technology มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 ที่สอดรับกับเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2065  

ทั้งนี้โครงสร้างธุรกิจใหม่จะให้ความสำคัญใน 5 ภารกิจที่สำคัญ ภายใต้ Climate Technology ประกอบด้วย 1. Carbon Capture เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ที่ประยุกต์ใช้ได้ในภาคอุตสาหกรรม 2.Hydrogen Economy นวัตกรรมที่เน้นการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับ Blue Hydrogen และ Green Hydrogen ซึ่งคืบหน้า 20-30% และพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบปี 2026-2027

3.Sustainable Offerings การนำเอานวัตกรรมจากก๊าซอุตสาหกรรมของบีไอจีไปช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพ 4.Digital Platform เป็นระบบการมอนิเตอร์และช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหมาะสม และ 5.Bio Circular Green หรือการนำ BCG Model (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว) มาใช้เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ                                                                                                                                                                       

อย่างไรก็ตามสำหรับหนึ่งใน Climate technology ที่สำคัญคือ ไฮโดรเจน ซึ่งในปัจจุบัน “บีไอจี” เป็นผู้ผลิตไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ เพื่อนำมาใช้ในงานพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดในประเทศ มีความเชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจน โดยบริษัทได้ใช้เทคโนโลยีจากบริษัทแม่คือ แอร์โปรดักส์ ที่เป็นผู้ผลิตไฮโดรเจนรายใหญ่สุดของโลก ซึ่งกำลังมีโครงการใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 15,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) และไฮโดรเจนสีเขียว (Green  Hydrogen) ปัจจุบันมีความคืบหน้าโครงการไปแล้วกว่า 50% แล้ว และคาดว่าจะพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 2026-2027

ส่วนของประเทศไทย บีไอจี ได้ร่วมมือกับ กลุ่มบริษัท ปตท. และโตโยต้าจัดตั้งสถานีบริการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้กับภาคยานยนต์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพื้นที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตั้งแต่ปี 2565 นอกจากนี้ บีไอจี ยังมีแผนจะนำเทคโนโลยีการเก็บกักคาร์บอนและเทคโนโลยีอีเล็คโตรไลซิสเพื่อพัฒนาไฮโดรเจนสีน้ำเงิน และไฮโดรเจนสีเขียว ร่วมกับองค์กรชั้นนำในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO, บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ., จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นการร่วมลงทุนผลิต ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน และไฮโดรเจนสีเขียวได้ภายใน 5 ปี หรือประมาณปี 2028 เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานไฮโดรเจนอย่างเต็มรูปแบบ

ขณะเดียวกัน บีไอจี ก็มีแผนนำเอาไฮโดรเจนที่ผลิตในปัจจุบันราว 100 ตันต่อวันจำหน่ายให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก 80 ตันต่อวัน เหลืออยู่ 20 ตันต่อวันมาผลิตเป็นไฮโดรเจนสีน้ำเงิน จำหน่ายให้กับกลุ่มรถบรรทุก รถบัส คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2567 พร้อมกับจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมที่ต้องนำไฮโดรเจนไปส่วนสผมกับเชื้อเพลิงใช้ในกระบวนการผลิต เช่น โรงงานผลิตเหล็ก กระจก ซีเมนต์  

นอกจากนี้ บีไอจี ยังได้พัฒนาอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ด้าน Climate Technology คือ สมาร์ทแพลตฟอร์มสำหรับการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิของภาคอุตสาหกรรม ผ่านระบบ Carbon Accounting Platform ด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี โดยเริ่มจากการวัดเพื่อทราบปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิในกระบวนการผลิตทั้งหมดแบบเรียลไทม์ จากนั้นบีไอจีจะนำโซลูชั่นหลากหลายรวมไปถึงนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำเป็นพิเศษที่บีไอจีผลิตได้เพียงรายเดียวในประเทศไทยมาช่วยลดการปล่อยคาร์บอนที่มาจากกระบวนการผลิตที่ถูกวัด และสุดท้ายแพลตฟอร์มนี้ยังสามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับบีไอจี และภาคส่วนต่างๆ จากทุกอุตสาหกรรม

นายปิยบุตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากมีการลงทุนผลิต ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน และไฮโดรเจนสีเขียว คาดว่าภายในปี 2025 – 2030 จะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 50,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันทางยุโรป และสหรัฐอเมริกามีการบังคับเรื่องภาษีคาร์บอน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และการขนส่งจะหันมาใช้ไฮโดรเจนสีน้ำเงินกันมากขึ้น และหลังจากปี 2030 คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 แสนล้านบาท โดยคาดว่าอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจะมีการใช้ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน และไฮโดรเจนสีเขียว กันอย่างแพร่หลาย โดยคาดว่าราคาจะถูกลงมาอีก จากปัจจุบันราคาไฮโดรเจนสีน้ำเงินอยู่ที่ 2.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ราคาไฮโดรเจนสีเขียวอยู่ที่ 4 ดอลลาร์สหรัฐ