“บี.กริม เพาเวอร์” วางกลยุทธ์รับมือต้นทุนราคาก๊าซฯพุ่ง

ผู้ชมทั้งหมด 614 

บี.กริม เพาเวอร์” งัดกลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุนราคาก๊าซฯพุ่ง เล็งปิดดีลซื้อกิจการเพิ่มในปีหน้า พร้อมตั้งเป้าลดรายจ่าย 100 ล้านบาท  ขณะที่ไตรมาส 3 รายได้โต หนุน 9 เดือนกวาดกำไร 2,228 ล้านบาท ลุยขยายพอร์ต “พลังงานทดแทน” มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด   (มหาชน)  หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บี.กริม เพาเวอร์ ตระหนักถึงแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นช่วงขาขึ้น จึงได้เตรียมกลยุทธ์เพื่อรับมือ โดยมีเป้าหมายที่จะเข้าซื้อโครงการเพิ่มเติมเพื่อรับรู้กำไรทันทีในปีหน้า รวมถึง มีแผนการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยตั้งเป้าจะประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 100 ล้านบาท ในปี 2565 และการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม 5 โครงการ ในครึ่งปีหลังของปี 2565 คาดว่าจะช่วยประหยัดการใช้ก๊าธรรมชาติต่อหน่วยลง 15% ขณะที่ บี.กริม เพาเวอร์ ยังมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนค่าก๊าซในอนาคต เมื่อเริ่มมีการนำเข้า LNG ตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม รายได้ส่วนใหญ่ของ บี.กริม เพาเวอร์ หรือในสัดส่วน 75% จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนี้ ในปีหน้า บริษัท ยังเดินหน้าขยายพลังงานทดแทน ผลักดันสู่เป้าหมายก้าวการเป็นองค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ได้ภายในปี ค.ศ.2050 (ปี พ.ศ. 2593) โดยล่าสุดประกาศขยายธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศมาเลเซีย และโปแลนด์

บี.กริม เพาเวอร์ ตั้งเป้ามีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในปี 2568 ไม่ต่ำกว่า 7,200 เมกะวัตต์ จาก 3,058 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2563 และมุ่งสู่ 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ด้วยเป้าหมายรายได้ 100,000 ล้านบาทต่อปี”

สำหรับผลประกอบการในช่วง 9 เดือนของปี 2564 กำไรสุทธิ-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ เพิ่มขึ้น 6% อยู่ที่ 2,228 ล้านบาท จากปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) ในประเทศไทย เติบโต 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับประมาณการเดิมที่ 10-15% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ลดลง 16.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และการขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ ไตรมาสที่ 3/2564  บี.กริม เพาเวอร์ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ เติบโต 4.7% อยู่ที่ 11,714 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้า IU ในประเทศ 17.1%  โดยเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 844 กิกะวัตต์-ชั่วโมง จากหลายกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมหลัก ควบคู่กับการเชื่อมเข้าระบบของลูกค้า IU รายใหม่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 33.5 เมกะวัตต์ ในช่วง 9 เดือนของปี 2564 จากเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 40 เมกะวัตต์ในปีนี้ และมากกว่า 50 เมกะวัตต์ ในปี 2565 อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิ-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ ลดลง 23.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาที่ 571 ล้านบาท จากราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 268 บาทต่อล้าน BTU และการซ่อมบำรุงตามแผนของโครงการโรงไฟฟ้า SPP 3 โครงการ