“บ้านปู” รุกขยายลงทุนพลังงานสะอาดในออสเตรเลียเต็มสูบ

ผู้ชมทั้งหมด 613 

บ้านปู รุกขยายการลงทุนในออสเตรเลียเต็มสูบนำเทคโนโลยีดิจิทัลเสริมแกร่งอีโคซิสเต็ม พร้อมเร่งขยายพอร์ตพลังงานสะอาดตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานที่หลากหลาย

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ กล่าวว่า กลุ่มบ้านปู เร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านองค์กร (Banpu Transformation) ในทุกประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านพลังงานที่สนับสนุนภารกิจในการส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน โดยธุรกิจของกลุ่มบ้านปูในประเทศออสเตรเลียถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความคืบหน้าของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของกลุ่มบ้านปูที่ได้นำกระบวนการ Digital Transformation ซึ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ควบคู่ไปกับการขยายพอร์ตฟอลิโอพลังงานสะอาด

ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ของกลุ่มบ้านปู ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบ้านปูได้เห็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะออสเตรเลีย ซึ่งนับว่ามีความโดดเด่นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยกระบวนการปฏิวัติดิจิทัล ไปพร้อม ๆ กับการปรับพอร์ตธุรกิจให้สอดคล้องกับกลยุทธ์พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่าเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยสนับสนุนกลุ่มบ้านปูให้เดินหน้าสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ด้วยความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจของการส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บ้านปูเริ่มลงทุนธุรกิจในประเทศออสเตรเลียในปี 2552  โดยเริ่มต้นดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายถ่านหิน และจากการขับเคลื่อนกลยุทธ์ Greener & Smarter ทั่วทั้งองค์กร ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจในออสเตรเลียมีการต่อยอดด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) เข้ามาเพิ่มศักยภาพและเสริมความแข็งแกร่ง

กรอบการทำงานสำหรับ Digital Transformation ของกลุ่มบ้านปู อยู่ภายใต้แนวคิด Triple-Transformation Framework ได้แก่ ด้านธุรกิจ มุ่งสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหม่ผ่านการขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลโซลูชัน ตลอดทั้งระบบงานของธุรกิจอย่างไร้รอยต่อและมีประสิทธิภาพ

โดยในด้านเทคโนโลยีนั้นได้วางโครงสร้างการพัฒนาเทคโนโลยีจากนวัตกรรมที่ทันสมัย พัฒนาระบบการทำงานแบบ Agile สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ และผู้พัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และ ด้านบุคลากร  มุ่งบ่มเพาะดีเอ็นเอแบบ Agile สร้างค่านิยมการทำงานแบบ Hackathon ให้ทุกคนพร้อมทดลอง เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้เพื่อเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจบ้านปูยังได้ก่อตั้ง Digital Capability Center (DCC) ในประเทศออสเตรเลียขึ้นในปี 2561 เพื่อสร้างความสามารถภายในองค์กรในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของพนักงานและเครื่องจักรให้มีความแม่นยำ รวดเร็ว ลดข้อผิดพลาดจากทั้งมนุษย์ และอุปกรณ์

รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการบริหารต้นทุนที่เหมาะสม ที่ผ่านมาหน่วยงาน DCC ของออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปเสริมแกร่งการทำงานถึง 14 เคส ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่สำคัญ อาทิ แพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management Platform) ที่นำมาใช้ในการติดตามตรวจสอบการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์บน IIoT และการวิเคราะห์บนคลาวด์แพลตฟอร์ม ‘SwitchDin’ เพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานในทุกเหมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด Real-Time Condition Monitoring Using AI เป็นการนำอุปกรณ์ที่มีอยู่ (เช่น ปั๊ม มอเตอร์ คอมเพรสเซอร์ ฯลฯ) มาติดตั้งอุปกรณ์ IoT เพื่อเห็นมุมมองการทำงานของอุปกรณ์แบบองค์รวม โดยสามารถตรวจสอบสภาพอุปกรณ์แบบเรียลไทม์ มีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าเมื่ออุปกรณ์เริ่มทำงานผิดปกติ รวมถึงนำข้อมูลที่ได้สำหรับการวางแผนงานเชิงป้องกันและการคาดการณ์ในอนาคต เป็นต้น

สำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด (Greener Portfolio) ในประเทศออสเตรเลีย กลุ่มบ้านปูได้จัดตั้ง บริษัท Banpu Energy Australia เพื่อดำเนินงานโดยจะมุ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ โครงการพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  (Decarbonization Projects) การพัฒนาโซลูชันด้านพลังงาน (Energy Solutions) และการบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด (Portfolio Optimization)  โดยล่าสุด ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl หรือ BSF) กำลังการผลิต 110.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มานิลดรา (Manildra หรือ MSF) กำลังการผลิต 55.9 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์  

นอกจากนี้ โครงการปั๊ม ไฮโดร เอ็นเนอจี สตอเรจ  (Pump Hydro Energy Storage Project) ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีและการวิจัยชั้นนำของโลกที่ทางบริษัทฯ ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งจากสำนักงานพลังงานทดแทนแห่งออสเตรเลีย (ARENA) และรัฐบาลของรัฐนิวเซาท์เวลส์ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานน้ำที่สามารถกักเก็บไว้ที่เหมืองใต้ดินในบริเวณที่ทำเหมืองเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำ จ่ายให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก คาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์  

พร้อมกันนี้ยังมีแผนลงทุนโซลาร์ฟาร์มในบริเวณเหมืองถ่านหินที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งคาดว่าจะมีศักยภาพในลงทุนได้ราว 87 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในเหมืองของบ้านปู ซึ่งปัจจุบันมีการลงทุนไปแล้ว 2 เมกะวัตต์ และขนาดกำลังการผลิต 1.2 เมกะวัตต์เป็นโซลาร์รูฟท็อป นอกจากนี้แล้วยังมีแผนลงทุนโรงไฟฟ้า Waste gas to energy ขนาดกำลังการผลิตราว 8 เมกะวัตต์ สำหรับใช้ในกิจการของบ้านปู

บ้านปูยังสนใจศึกษาธุรกิจเหมืองแร่ที่ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Tech Minerals) ที่สามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานการผลิตเหมืองถ่านหินอยู่แล้ว และออสเตรเลียก็ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสินแร่แห่งอนาคตอยู่มากเช่นเดียวกัน

“บ้านปูยังคงมุ่งมั่นเดินตามกลยุทธ์แผน 5 ปี ต่อยอด Greener & Smarter ขยายพอร์ตพลังงานสะอาด ด้วยแนวทางที่ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีธุรกิจแบบ Never Normal ในปัจจุบัน และสอดรับกับเทรนด์พลังงานโลก เดินหน้าเปลี่ยนผ่านองค์กรในทุกประเทศที่บ้านปูดำเนินธุรกิจ นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจพลังงาน (Banpu Ecosystem) เพื่อส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืนภายใต้จุดยืน “อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน” หรือ Smarter Energy for Sustainability ต่อไป

ทั้งนี้แผนการลงทุนพลังงานสะอาดนั้นกลุ่มบ้านปูมุ่งเน้นขยายการลงทุนในประเทศจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย โดยเฉพาะในประเทศออสเตรเลียที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด โดยระหว่างปี 2021 – 2042 สัดส่วนพลังงานทดแทนจะเพิ่มมาขึ้น ซึ่งออสเตรเลียได้ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปี 2050 ดังนั้นการพัฒนาโครงการปั๊ม ไฮโดร เอ็นเนอจี สตอเรจถือเป็นส่วนสำคัญที่จะต่อยอดระบบนิเวศด้านพลังงานของบ้านปูให้ก้าวสู่เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 1,600 เมกะวัตต์ สู่เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 และช่วยสนับสนุนให้สัดส่วน EBITDA ของธุรกิจพลังงานสะอาดเพิ่มมากกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2568 อีกด้วย