ปตท.คว้าสิทธินำเข้า LNG 4 เดือนแรกปี 65 ชดเชยก๊าซฯขาด

ผู้ชมทั้งหมด 982 

กกพ.มอบ ปตท.นำเข้าLNG ช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.65) ชดเชยกำลังการผลิตก๊าซฯในประเทศต่ำกว่าแผนฯ ขณะที่ “ชิปเปอร์รายใหม่” ยังรอประเมินสถานการณ์ราคาก่อนตัดสินใจนำเข้าหรือไม่ ชี้หากรายใหม่นำเข้า ปตท.ต้องนำเข้าเต็มโควตาทั้งปีนี้ 4.5 ล้านตัน  

แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2565 ที่กำหนดปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เบื้องต้นอยู่ที่ 4.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ อยู่ที่ 1.74 ล้านตัน ซึ่งปริมาณ LNG ดังกล่าว เป็นส่วนเพิ่มจากสัญญาระยะยาวของ ปตท. ที่ปัจจุบัน มีอยู่ 5.2 ล้านตันต่อปี เบื้องต้นจะให้ ปตท.นำเข้า รวมทั้งผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซ (Shipper) รายใหม่ที่สามารถนำเข้าได้

แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การนำเข้า Spot LNG ในปีนี้ ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดย ปตท.เป็นผู้นำเข้าก๊าซในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.65) ส่วนปริมาณนำเข้าเท่าไหร่นั้น ให้เป็นการบริหารจัดการของปตท.ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาก๊าซฯมาชดเชยกับกำลังการผลิตก๊าซฯในประเทศที่หายไป 

ขณะที่ Shipper รายใหม่ ยังไม่มีรายใดยื่นแสงดงเจตจำนงที่จะนำเข้าก๊าซในปีนี้ ต่อ กกพ. ซึ่งเข้าใจว่า แต่ละรายคงอยู่ระหว่างประเมินความเหมาะสม รวมถึงรอประมินสถานการณ์ราคา LNG ตลาดโลกด้วย เนื่องจากปัจจุบันราคายังแพงอยู่ ดังนั้น เมื่อยังไม่มี Shipper รายใดสนใจนำเข้าก๊าซฯ ก็เป็นหน้าที่ของปตท. ที่จะต้องจัดหาก๊าซฯเข้ามาก่อน

“ต้องยอมรับว่า ก๊าซฯเราขาดแล้ว และปตท.ก็นำเข้าตั้งแต่ต้นปี เพราะช่วงนี้ไม่มีคนนำเข้า ก็ให้ปตท.ไปดูจะบริหารจัดการจัดซื้อก๊าซฯ ในรูปแบบใด จะเป็น Spot หรือ สัญญาระยะสั้นแบบไหนที่เป็นประโยชน์ก็ให้เขาดำเนินการ เพราะมีประสบการณ์ในการจัดซื้อก๊าซฯอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม โควตาจัดหา LNG ในปีนี้ ที่กำหนด 4.5 ล้านตันนั้น เบื้องต้นจะเป็นโควตาการนำเข้าของปตท. เฉพาะในส่วนที่ต้องจัดหาก๊าซฯมาเพิ่มเติม จากกำหนดการผลิตก๊าซฯในประเทศที่หายไป ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้น ประมาณว่า จะไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านตัน และโควตาที่เหลือ ราว 2.7 ล้านตัน ก็จะเป็นการนำเข้าโดย Shipper รายใหม่ แต่หากไม่มี Shipper รายใดสนใจนำเข้าในปีนี้ ก็จะเป็นหน้าที่ของ ปตท.ที่จะต้องจัดหาก๊าซฯในปริมาณทั้งหมด

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่าเท่าที่ติดตามข้อมูลในเบื้องต้น อาจมี Shipper บางราย ยื่นนำเข้าก๊าซฯ แต่อาจเริ่มนำเข้าจริงในต้นปี 2566 ขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งเป็น Shipper รายที่ 2 ของประเทศ ที่ได้รับมอบหมายจากภาครัฐให้ทดลองนำเข้า LNG ไปก่อนหน้านี้ ก็มีความสนใจที่จะนำเข้าก๊าซฯในปีนี้

แต่เนื่องจากตามโครงสร้างการเปิดแข่งขันเสรีในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 เป็นการสนับสนุนให้เอกชนนำเข้าก๊าซฯไปใช้ในโรงไฟฟ้าของตนเอง แต่ในส่วนของการนำเข้าก๊าซฯที่จะผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบนั้น ต้องดำเนินการตามมติ กพช.เมื่อ 6 ม.ค.2565 ที่เห็นชอบหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) สำหรับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulated Market) สำหรับสัญญาระยะยาวและ/หรือสัญญาระยะกลาง ได้เป็น 3 รูปแบบ คือ 1. สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาน้ำมัน (Oil linked linear formula) 2. สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ (Gas linked linear formula) และ 3. สมการในรูปแบบ Hybrid ซึ่งอ้างอิงทั้งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และมีจุดหักมุม (Hybrid oil gas linked formula with a kink point)

ดังนั้น หาก กฟผ.สนใจนำเข้าก็ต้องนำราคาก๊าซฯภายใต้ 3 สูตรดังกล่าวมาเจรจาราคาที่เหมาะสมกับ กกพ. เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศ อย่างไรก็ตาม สูตรก๊าซฯ 3 รูปแบบดังกล่าว เป็นการยืดหยุ่นให้กับผู้จัดหาก๊าซฯ ที่จะไปเจรจาจัดซื้อก๊าซฯกับผู้ค้าต่างๆ ที่มีการอ้างอิงราคาก๊าซฯแตกต่างกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อต้นทุนจัดหาก๊าซฯในราคาที่ดี และเหมาะสม