ปตท.คาดปี67 ธุรกิจก๊าซฯและไฟฟ้า มาร์จิ้นเพิ่มรับต้นทุนถูกลง

ผู้ชมทั้งหมด 3,379 

ปตท.คาดปี 2567 ธุรกิจเติบโตตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ ด้านธุรกิจก๊าซฯ วอลุ่มเพิ่มขึ้นขณะที่ราคาลดลงเพิ่มมาร์จิ้น เช่นเดียวกับธุรกิจไฟฟ้าที่มาร์จิ้นเพิ่มตามต้นทุนเชื้อเพลิงถูกลง ขณะที่ธุรกิจน้ำมันยอดขายขยับเพิ่มตามภาวะเศรษฐกิจ แม้ธุรกิจปิโตรเคมียังมีแรงกดดันจากซัพพลายใหม่ เตรียมประกาศลงทุนตามแผน 5 ปีใหม่ภายใน ธ.ค.นี้ คาดปี2667 ทยอยรับรู้รายได้เพิ่มจากธุรกิจ Future Energy และธุรกิจ Beyond ที่เริ่ม COD  

นายธนพล ประภาพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยในงาน Oppday Q3/2023 PTT เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566 โดยระบุว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในปี2567 คาดว่า เศรษฐกิจโลก(GDP) จะขยายตัว 2.9% ชะลอลงจากปี 2566 จากผลสะสมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ตลอดจนเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใกล้จะสิ้นสุดลงแล้วและเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินในครึ่งหลังปีหน้า ท่ามกลางตลาดแรงงานที่คาดว่ายังคงแข็งแกร่ง และหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกของปี 2567

ขณะที่เศรฐกิจไทย ในปี2567 คาดว่า GDP จะขยายตัว 3.2% เติบโตต่อเนื่องจากปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.7% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากดีมานด์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการส่งออกที่จะกลับมาขยายตัว และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 จะกลับมาเติบโตเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากภาครัฐ เช่น นโยบายการคลังเรื่องของดิจิทัลวอลเล็ต แต่มีแรงกดดันเรื่องของต้นทุนอาหารหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด อาจส่งผลให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นได้ ตลอดจนหนี้ครัวเรือนที่สูง จะกดดันให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเป็นไปอย่างจำกัด

สำหรับแนวโน้มราคาพลังงาน โดยราคาก๊าซธรรมชาติ(Henry Hub) ปี 2567 คาดว่าจะปรับลดลง 4% จากปีนี้ โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.5-2.9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคา Spot LNG คาดว่า จะลดลง 11% เฉลี่ยอยู่ที่ 11.5-13.5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ส่วนราคาน้ำมันดูไบ จะลดลง 5% เฉลี่ยอยู่ที่ 76-81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยค่าการกลั่น(GRM) ลดลง 26% เฉลี่ยอยู่ที่ 4.4-5.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ด้านราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี คาดว่า ยังเผชิญความท้าทายจากดีมานด์ผลิตภัณฑ์ปลายทางที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและแรงกดดันจากซัพพลายใหม่ที่มีมากขึ้นของ HDPE , PP และ BZ ที่เพิ่มขึ้นในจีน อย่างไรก็ตามคาดว่า แนวโน้มดีมานด์ครึ่งหลังปีหน้าจะฟื้นตัวขึ้น

ส่วนทิศทางผลการดำเนินงานทางธุรกิจในกลุ่ม ปตท. เริ่มจากธุรกิจสำรวจและผลิต(E&P) ปี2567 คาดว่าปริมาณการขายจะปรับเพิ่มขึ้นจากแหล่ง G1(เอราวัณ) ที่จะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นแตะระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเม.ย.2567 อย่างไรก็ดีคาดว่าราคาขายเฉลี่ยจะปรับลดลงตามคาดการณ์ราคาขายน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดลง

โดยธุรกิจก๊าซฯของ ปตท.คาดว่า จะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวที่เติบโต ขณะที่ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยผลิตได้สูงขึ้น ส่งผลให้กำลังการผลิตของโรงแยกก๊าซฯ จะฟื้นตัวอยู่ที่ระดับ 80-85% และแผนการปิดซ่อมบำรุงที่ลดลงในปีหน้า ด้านต้นทุน Pool GAS จะลดลงตามการนำเข้า Spot LNG ที่ลดลงจากปริมาณการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้น และราคาที่ปรับลดลงจากปีนี้ ส่งผลให้มาร์จิ้นธุรกิจก๊าซฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ด้านธุรกิจน้ำมัน คาดปริมาณฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ยังคงได้รับแรงกดดันจากสภาวะเศรฐกิจ ส่งผลให้ GRM ปรับลดลงเล็กน้อย ด้านปิโตรเคมี ราคาจะอ่อนตัวลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม คาดว่าดีมานด์ในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัว และส่งผลบวกต่อธุรกิจปิโตรเคมี ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้า คาดว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจะฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาร์จิ้นมีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลง

ส่วนธุรกิจ Future Energy จะขยายตัวต่อเนื่องทั้งพลังงานหมุนเวียนที่ลงทุนโดย GPSC และการขยาย Ecosystem ทั้งระบบของ EV value chain และธุรกิจจัดจำหน่ายรถไฟฟ้า 2 ล้อ ที่จะเริ่มรับรู้รายได้ภายหลังธุรกิจต่างๆเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ ด้านธุรกิจ Beyond คาดว่า จะมีผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากโครงการต่างๆที่เริ่มทยอยCOD และผลิตภัณฑ์ต่างๆที่จะทยอยเข้าสู่ตลาดในปี 2567 เช่นโปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) และอาหารโภชนาการ เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าโครงการลงทุนของ ปตท. ในส่วนของโครงการท่อเส้นที่ 5 เฟส 1 และเฟส 3 ก่อสร้างแล้วเสร็จ ขณะที่เฟส 2 มีกำลังเสร็จในปี 2567 จะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และเพิ่มกำลังส่งก๊าซฯจากภาคตะวันออกไปสู่ภาคตะวันตก ส่วนโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 7 ที่จะเข้ามาทดแทนโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 1  จะมีกำลังใกล้เคียงเดิม 460 ล้านลูกบาศก์ฟุต(MMSCFD) จะCOD ในปี2567 ด้านโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและคุณภาพน้ำมันดีเซล ยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project หรือ UCF) จะCODไตรมาส 1ปี 2567, โครงการพลังงานสะอาด (CFP) คาดว่า COD ในช่วงปี 2567-2568 ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจาก 2.78 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ทำให้ลดต้นทุนการผลิต

ส่วนธุรกิจใหม่ ด้านโรงงานแบตเตอรี่ของ NV Gotion กำลังการผลิจ 4 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปีคาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาส4 ปีนี้ และโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) ในประเทศไทย กำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี คาดว่าจะ COD ในปี 2567 รวมถึงโรงงานผลิตรถไฟฟ้า 4 ล้อ ที่ร่วมมือกับ Foxconn อยู่ระหว่างก่อสร้าง กำลังการผลิต 50,000 คันต่อปี คาดว่าจะ CODในปีหน้า

“คาดว่า ปีหน้า จะมีรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นตามโครงการที่ COD ในปลายปีนี้และปีหน้า ทั้งในส่วนของธุรกิจ Future Energy และธุรกิจ Beyond”

ด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โครงการโซลาร์ฟาร์มในอินเดีย จะทยอย COD ได้ตามแผนงาน และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในไต้หวัน คาดว่า จะ CODได้ 100% ในปี2567

ขณะที่แผนซ่อมบำรุงในปีหน้า จะมีในส่วนของโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 1 ประมาณ 11 วัน รวมถึงมีโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่5 ซ่อมบำรุง 45 วัน และโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 ซ่อมบำรุง 35 วัน ส่วนโรงปิโตรเคมี ก็มีแผนปิดซ่อมบำรุง ในช่วงที่โรงแยกก๊าซฯ ปิดซ่อมบำรุงด้วย

“แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2567 ธุรกิจก๊าซฯจะมีวอลุ่มที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ลดลง ขณะที่ไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่า ก๊าซฯวอลุ่ม Spot LNG จะนำเข้ามาน้อยลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ก็ส่งผลบวกต่อต้นทุนก๊าซฯ ส่วนราคาปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ยังต้องรอดูราคาปิดตลาดในช่วงสิ้นปี”

นายธนพล กล่าวอีกว่า ในปี 2567 งบลงทุนจะอยู่ที่ 36,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดีจะมีการประกาศงบลงทุนใหม่ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนลงทุนช่วง 5ปีข้างหน้า(2567-2571)