ปตท.สผ.ตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมปี 65 โต 6-7%

ผู้ชมทั้งหมด 1,027 

ปตท.สผ.ตั้งเป้าหมายมีปริมาณการขายปิโตรเลียมปี 65 โต 6-7% แย้มมีโอกาสปิดดีลใหม่ ไตรมาส 1 ปีหน้า ลุยหาพันธมิตรต่อยอดธุรกิจเพิ่มการเติบโตให้ “เออาร์วี” พร้อมผลักดันธุรกิจใหม่ สร้างกำไรสัดส่วน 20% ในปี 2573

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผย “วิสัยทัศน์และทิศทางการเติบโตอย่างยั่งยืนของ ปตท.สผ.” โดยระบุว่า เป้าหมายการดำเนินงานในปี 2565 ปตท.สผ. คาดหมายจะมีปริมาณขายปิโตรเลียม เติบโตขึ้น 6-7% จากปี 2564 ที่มีปริมาณขายปิโตรเลียม อยู่ที่  417,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้กำลังการผลิตเต็มปีจากโครงการโอมาน แปลง 61 และโครงการมาเลเซีย – แปลงเอช

รวมถึง การโครงการบงกช ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาชดเชยกำลังการผลิตจากแหล่งเอราวัณ ตามการเปลี่ยนผ่านระบบสัญญาสัมปทานไปสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) และการได้กำลังการผลิตจากโครงการเอราวัณเข้ามาเพิ่ม เป็นต้น

“ช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีโอกาสที่จะได้ดีลใหม่ๆเข้ามา ซึ่งก็อยู่ในกลุ่มประเทศเป้าหมาย 5 พื้นที่ ที่ยังคงโฟกัสโครงการในประเทศไทย เมียนมา มาเลเซีย โอมาน และยูเออี เป็นหลัก คาดว่า ดีลใหม่จะชัดเจนในไตรมาส 1 ขณะที่ งบลงทุนในปีหน้านั้น บริษัท อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการลงทุน 5ปี (2565-2569) คาดว่าจะประกาศความชัดเจนได้ในช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้”

ส่วนทิศทางราคาน้ำมันในปีหน้า มองว่า การขยับเพิ่มกำลังการผลิตของโอเปกยังส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่เชื่อว่า โอเปกจะพยายามทำให้ราคาน้ำมันดิบเข้าสู่สมดุล หรือมีระดับที่เหมาะสมอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งคาดว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะเข้าสู่สมดุลได้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ตลาดจร(Spot) ปัจจุบันราคาสูงขึ้นมาก แต่ก็เริ่มมีกำลังการผลิตจากรัสเซียเข้ามา รวมถึง สหรัฐ และออสเตรเลียม ที่เริ่มกลับมาทำการผลิต จะทำให้ราคา LNG อยู่ที่ระดับ 7-10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก่อนที่ราคาก๊าซฯจะเข้าสู่สมดุลใน 2-3ปีข้างหน้า ส่วนราคาขายเฉลี่ยก๊าซธรรมชาติ ของ ปตท.สผ. ในปีหน้า คาดว่า จะใกล้เคียงกับปีนี้ ที่ประมาณ 5.7- 6.0 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และตั้งเป้ารักษาระดับต้นทุนต่อหน่วยที่ประมาณ 28-29 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ประมาณ 70-75% ของรายได้จากการขาย

สำหรับความคืบหน้า การเข้าพื้นที่โครงการแปลง G1/61(แหล่งเอราวัณ) ของ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ. อีดี (ในกลุ่ม ปตท.สผ.) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ปัจจุบัน ยังมีความล่าช้าไปจากแผน และยังอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มผู้รับสัมปทานรายเดิม (กลุ่ม เชฟรอนฯ) โดยคาดหวังว่า จะมีความชัดเจนก่อนสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ปตท.สผ.จะเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัฯ ล่าช้า แต่ในส่วนของโครงการแปลง G2/61 (แหล่งบงกช)ยังเป็นไปตามแผน และปตท.สผ.ได้ประสานงานกับกระทรวงพลังงาน เพื่อวางแผนจัดหาก๊าซฯมาทดแทนกำลังการผลิตจากแหล่งเอราวัณ ในช่วงเปลี่ยนผ่านสัญญา

โดยเบื้องต้น ปตท.สผ. จะเร่งกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย ขึ้นมาเพิ่มเติม เช่น แหล่งอาทิตย์ ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเพิ่มเป็น 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในต้นปีหน้า และอีก 2 ปีเพิ่มเป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนแหล่งบงกช ตามเงื่อนไขสัญญาPSC กำหนดให้ต้องมีกำลังการผลิตก๊าซฯไม่ต่ำกว่า 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 125-150 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  

นายมนตรี กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ความท้าทายในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ปตท.สผ. ได้วางแนวทางการดำเนินธุรกิจ โดยเน้น 3 เรื่องหลัก ดังนี้

1. สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ ปตท.สผ. มีความชำนาญ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง โดยจะเพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติเป็น 80% และน้ำมัน 20% ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านเทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Storage หรือ CCS)

2. ลงทุนในธุรกิจใหม่ (Beyond E&P) 3 ด้าน ดังนี้ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยลงทุนผ่านบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (AI and Robotics Ventures Company Limited) ซึ่งในปีหน้า จะวางแผนเติบโตมากขึ้น จากการหาพันธมิตรร่วมลงทุนต่อยอดใน 4 หน่วยธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ROVULA ซึ่งเป็นหุ่นยนต์สำรวจ ตรวจสอบ และซ่อมแซมอุปกรณ์ใต้ทะเล 2.VARUNA ซึ่งเป็นการใช้โดรน สำรวจพื้นที่และประมวลผลด้วยปัญญาประดิษ์สำหรับการเกษตรอัจฉริยะและการจัดการป่าไม้แบบยั่งยืน 3.SKYLLER หรือการใช้โดรนตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ CARIVA ซึ่งเป็นเครือข่ายด้านสุขภาพ พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง(IoT) และวิทยาการหุ่นยนต์

ธุรกิจไฟฟ้าที่ต่อยอดจากก๊าซธรรมชาติ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power)

และ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) จะมองหาโอกาสการลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ โดยล่าสุดได้จัดตั้งบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FutureTech Energy Ventures Company Limited) และบริษัท ฟิวเจอร์เทค โซลาร์ (ประเทศไทย) จำกัด (FutureTech Solar (Thailand) Company Limited) จำกัด เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต

3. ลงทุนในธุรกิจที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ซึ่งมุ่งสู่พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมองโอกาสการลงทุน ดังนี้ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และ การกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage หรือ CCUS) ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ ปตท.สผ.บรรลุเป้าหมายลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ 25% ในปี 2573 จากปีนี้ ลดได้ 17% และ พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต (Future Energy) เช่น พลังงานไฮโดรเจน

“ส่วนของธุรกิจใหม่ ปตท.สผ.ตั้งเป้าหมายจะมีกำไรในสัดส่วน 20% ของกำไรของ ปตท.สผ.ภายในปี 2573”