ปตท.สผ. หนุนรัฐใช้เวทีประชุม APEC เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน OCA ไทย-กัมพูชา

ผู้ชมทั้งหมด 537 

ปตท.สผ. หนุนรัฐใช้เวทีประชุม APEC เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน OCA ไทย-กัมพูชา ทางออกเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ รับมือนำเข้า LNG ราคาแพง ส่วนการติดตั้งแท่นหลุมผลิตแหล่งเอราวัณยังคงเป็นไปตามแผนไม่มีสะดุด

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในแหล่งที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันก็ลดลง เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซของไทย และลดการพึ่งพาการนำเข้า LNG ที่มีราคาแพง ตัวแทนรัฐบาลไทยควรเร่งดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา เพื่อหาแนวทางร่วมกันพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area-OCA) และใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

ดังนั้นการประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ประจำปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) ที่จะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการช่วงวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ในประเทศไทย ตัวแทนรัฐบาลควรจะต้องถือโอกาสนี้ในการเจรจากับกัมพูชา ซึ่งการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาเรื่องพื้นที่ OCA ควรจะต้องได้ข้อสรุปในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะหากมีรัฐบาลชุดใหม่ก็จะทำให้ยืดเยื้อออกไปอีก

ส่วนการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) นั้นการดำเนินงานยังคงเป็นไปตามแผนเพิ่มอัตราการผลิตของโครงการจี 1/61 มากขึ้นตามลำดับให้ได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือนเมษายน 2567 โดยได้เร่งติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) จำนวน 8 แท่น วางท่อใต้ทะเล เจาะหลุมผลิตอีกประมาณ 183 หลุม และจัดหาแท่นเจาะเพิ่มอีก 2 แท่น เพื่อเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมจากแผนพัฒนาเดิมที่วางไว้อีก 52 หลุม ซึ่งตนมั่นใจว่าการดำเนินงานจะเป็นไปตามเป้าหมายอย่างแน่นอน