ฝ่าอุปสรรคกว่า 2 ปี ก่อนฟ้าเปิดทาง “ปตท.สผ.” เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ

ผู้ชมทั้งหมด 992 

ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน หรือเมื่อปลายปี 2561 กระทรวงพลังงาน เปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(แหล่งเอราวัณ) และหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) ในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ซึ่งเป็น 2 แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่สุดในอ่าวไทย

จนนำไปสู่การลงนาม PSC กับผู้ชนะการประมูล สำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในกลุ่ม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท มูบาดาลา จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โดยถือหุ้นสัดส่วน 60:40 ตามลำดับ และลงนาม PSC สำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่ถือสัดส่วน 100% นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีการลงนามภายใต้ระบบสัญญา PSC

เหตุการณ์ครั้งนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นเปลี่ยนผ่านระบบสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย จากเดิมใช้ระบบสัญญาสัมปทานมากว่า 30 ปี ไปสู่การใช้ระบบสัญญา PSC ที่ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และที่สำคัญเป็นการเปลี่ยนผ่านการบริหารงานในแหล่งเอราวัณกลับคืนสู่มือคนไทย ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่ม ปตท.สผ. ตั้งแต่เริ่มต้นสัญญา PSC ในวันที่ 24 เม.ย.2565 เป็นต้นไป จากปัจจุบัน กลุ่มเชฟรอนฯ ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ เป็นผู้ดำเนินการในแหล่งเอราวัณ

โดย ณ ขณะนั้นแหล่งเอราวัณ มีอัตราการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และกลุ่มเชฟรอนฯ มีสิทธิที่จะทยอยปรับลดอัตราการผลิตก๊าซฯในช่วงก่อนหมดสัญญาสัมปทานลงได้ ซึ่งเชฟรอนฯ ได้แจ้งแผนปรับลดอัตราก๊าซฯให้กับ ปตท. ที่เป็นผู้รับซื้อก๊าซฯ รับทราบว่า อัตราก๊าซก่อนที่เชฟรอนฯจะออกจากพื้นที่ในเดือนเม.ย.2565 จะเหลืออยู่ที่ 560 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ตามเงื่อนไขสัญญา PSC กำหนดให้ ปตท.สผ.ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ จะต้องรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯในช่วงรอยต่อเปลี่ยนมือการบริหารงานไม่ให้สะดุด หรือ อัตรการผลิตต้องไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต่อวัน

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เล่าว่า การจะรักษาอัตราก๊าซฯ ให้อยู่ในระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต่อวัน ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที แต่จะต้องมีการเตรียมแผนการลงทุนล่วงหน้า โดย ปตท.สผ.ได้วางแผนก่อสร้างแท่นผลิตใหม่ 8 แท่น และต้องเข้าพื้นที่ไปติดตั้งแท่นล่วงหน้า 2 ปีก่อนที่สัญญาPSC จะเริ่มขึ้น หรือประมาณช่วงกลางปี 2563 ซึ่งแผนงานเดิมจะเริ่มติดตั้งแท่นตั้งแต่ไตรมาส1 ปี2564 เริ่มเจาะหลุมไตรมาส 2 ปี2564 ทุกอย่างพร้อม พอสัญญาPSC เริ่มก็สามารถเปิดหลุดได้ทันที แต่กลับมีอุปสรรคเกิดขึ้นเมื่อ ปตท.สผ.ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเข้าพื้นที่ ระยะที่ 2 กับทางเชฟรอนฯ เพื่อเข้าไปติดตั้งแท่นฯได้ หลังจากที่บรรลุข้อตกลงเข้าไปสำรวจพื้นที่ ระยะที่ 1 ไปแล้ว

ด้วยอุปสรรคดังกล่าว กระทบต่อการผลิตก๊าซฯของ ปตท.สผ.ที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อัตราการผลิตก๊าซฯของเชฟรอน ก่อนออกจากพื้นที่สัมปทานจากเดิมระบุว่า จะเหลือ 560 ล้านลูกบาศก์ฟุต่อวัน ก็เหลืออยู่ที่ระดับกว่า 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต่อวันเท่านั้น และเมื่อเกิดการส่งก๊าซฯไม่ได้ตามกำหนด ทำให้จะต้องมีการปิดแท่นผลิตกลาง(CPP) เพราะจะมีผลต่อความปลอดภัยถ้ามีการผลิตก๊าซฯต่อโดยที่ไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม

แม้ว่าล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2564 ทางบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอนประเทศไทย) และ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด  (PTTEP ED) จะบรรลุข้อตกลงร่วมกัน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ข้อตกลงเพื่อเข้าพื้นที่ดำเนินการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของสิ่งติดตั้งที่รัฐจะรับมอบ (Operations Transfer Agreement)  2. ข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 (Site Access Agreement 2) และ 3. สัญญาเพื่อให้ผู้รับสัมปทานเข้าพื้นที่ดำเนินการรื้อถอนในช่วงสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Asset Retirement Access Agreement) ซึ่งนับเป็นการเปิดทางให้ ปตท.สผ. ได้เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ แต่ก็น่าเสียดายที่ปล่อยให้เหตุการณ์ล่าช้ามากว่า 2 ปี ทั้งที่การเจรจาเป็นข้อเสนอเดิมที่ ปตท.สผ.ได้ยื่นเรื่องไปเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ เชฟรอนฯ ขอหยุดการเจรจาลงไปเมื่อราวเดือน ธ.ค.2563

“อุปสรรคใหญ่น่าจะหมดลงแล้ว และวันนี้ ปตท.สผ.พร้อมเดินหน้า 100% ก็เสียดายที่ล่าช้า 2 ปี เพราะเป็นก็งื่อนไขเดิมที่เคยเจรจากัน แต่จากนี้จะเร่งแผนงานให้ได้มากที่สุด ฉะนั้นอุปสรรคหนักหนาสาหัสกว่านี้ก็คงไม่มีแล้ว”  

อย่างไรก็ตาม เมื่อสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้แล้ว แม้ว่าจะเกิดความล่าช้ามากว่า 2 ปี ทาง ปตท.สผ.ก็พร้อมที่จะปรับแผนและเร่งรัดการดำเนินงานอย่างเต็มที่เพื่อรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯในแหล่งเอราวัณให้ได้มากที่สุด โดยแหล่งเอราวัณ มีแท่นผลิตกลาง(CPP) ทั้งหมด 8 แท่น จะสามารถทำการผลิตได้แค่ 5 แท่นเท่านั้น

โดยผลกระทบในช่วง 1-2 ปี แรกของการดำเนินงานแหล่งเอราวัณ คาดว่า อัตราก๊าซฯรับมอบจากเชฟรอนฯ ก่อนออกจากพื้นที่สัมปทาน จะลดลงเหลือเพียง 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น จากเดิม 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าแผนที่เคยแจ้งว่า จะอยู่ที่ 560 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น ปตท.สผ.จะทำการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯแหล่งเอราวัณ อีก 250-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะใช้เวลาประมาณ 24 เดือน เพื่อให้กลับไปผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ขณะเดียวกันจะเพิ่มกำลังผลิตก๊าซฯจากแหล่งอื่นขึ้นมาชดเชย รวมประมาณ 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็น แหล่งบงกช ปัจจุบันผลิตอยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จเพิ่มเป็น 825 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ,แหล่งอาทิตย์ ปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ อยู่ที่ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะเพิ่มเป็น 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเชีย(JDA) จะเพิ่ม 30-50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนราคาก๊าซฯที่ผลิต คาดว่าเมื่อเฉลี่ยรวมกันแล้วจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก หรือใกล้เคียงปัจจุบัน

“ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากเหตุการณ์ที่ ปตท.สผ.ไม่สามารถควบคุมได้ หลังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเข้าพื้นที่ได้จากการตีความที่ต่างกัน และปตท.สผ.จะไม่ถูกเรียกค่าปรับจากรัฐ กรณีไม่สามารถผลิตก๊าซฯได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามระยะเวลาที่กำหนด เพราะจะเลื่อนการผลิตก๊าซฯที่ระดับดังกล่าวออกไปอีก 2 ปี

ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณการลงทุนในแหล่งเอราวัณ ยังเป็นไปตามเดิม โดยในปี 2565 จะใช้เงินลงทุนราว 700 ล้านดอลลาร์ และจะเริ่มเข้าพื้นที่ตั้งแต่ต้นปี2565 เพื่อสำรวจพื้นที่ก่อนติดตั้งแท่น ซึ่งปกติแล้วเดือน ม.ค.จะเป็นช่วงฤดูมรสุม ที่จะต้องหาจังหวะเข้าดำเนินงานที่ปลอดภัยด้วย ขณะที่การถ่ายโอนพนักงานนั้น ทางปตท.สผ.จะทยอยรับโอนพนักงานของเชฟรอนฯ จากแหล่งเอราวัณ ตั้งแต่เดือนเม.ย.2565 คาดว่าจะ อยู่ที่ ประมาณ 1,200 คน และเมื่อรวมกับพนักงานที่ดำเนินงานอยู่ในอ่าวไทยทั้งแหล่งบงกชและอาทิตย์ จะอยู่ที่ ประมาณ 1,300-1,400 คน

มนตรี มองว่า ปี 2565 ทิศทางราคาพลังงาน ยังแกว่งตัว เพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้ง ซัพพลายก๊าซฯที่หายไปจากการหยุดซ่อมบำรุง ความไม่แน่นอนจากราคาน้ำมันดิบ ที่บางสำนักประเมินว่าจะขึ้นไปแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือบางสำคัญมองว่า อยู่แค่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์รเล ซึ่ง ปตท.สผ.ในฐานผู้ผลิตก็อยากเห็นราคานิ่งเพื่อให้การตัดสินใจลงทุนได้โดยลดความเสี่ยง โดยมองว่า ราคาน้ำมันที่ระดับ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นระดับที่เหมาะสม แต่ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ ความกังวลโควิด-19 ที่จะกลับมา ขณะที่ทิศทางราคาก๊าซฯ ยังประเมินได้ยาก เพราะเป็นเรื่องการเมืองระหว่างรัฐเซีย กับยูเครน รวมถึงการปืดซ่อมโรงแยกก๊าซฯ เป็นต้น