พพ. โชว์ต้นแบบโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียทดแทนLPG ในกระบวนการอบยางแท่ง

ผู้ชมทั้งหมด 535 

พพ. โชว์ศักยภาพ “ไทยอีสเทิร์น ชลบุรี” คว้ารางวัล Thailand Energy Awards 2023 ต้นแบบโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียทดแทน LPG ในกระบวนการอบยางแท่งใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เดินหน้าลดคาร์บอนปี 73

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ศึกษาความสำเร็จ บริษัท ไทยอีสเทิร์น จ.ชลบุรี ผู้ผลิตและแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออก คว้ารางวัลดีเด่น Thailand Energy Awards 2023 และรองชนะเลิศอันดับ 1 เวที ASEAN Energy Awards 2023 ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า ดึงของเสียจากการแปรรูปยางพาราและน้ำเสียจากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ผลิตก๊าซชีวภาพทดแทนการซื้อ LPG ในกระบวนการอบยางแท่งใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน และขายไฟฟ้าเข้าระบบ กฟภ. โชว์ศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพได้กว่า 9 แสนลูกบาศก์เมตร/ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 1 พันตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นายชำนาญ กายประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหาร และสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากทะลายปาล์มเปล่าและตะกอนปาล์มในอุตสาหกรรมแปรรูปปาล์มน้ำมัน ของบริษัท ไทยอีสเทิร์น ไบโอ พาวเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 2 ต.เขาซก อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ที่ได้รับรางวัลดีเด่น Thailand Energy Awards 2023 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ASEAN Energy Awards 2023 ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid : Thermal) เพื่อถ่ายทอดความสำเร็จและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิต-การใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนได้อย่างคุ้มค่าและเป็นรูปธรรม

“ในความสำเร็จของโครงการดังกล่าว เป็นการนำของเสียของกระบวนการผลิตมาใช้ประโยชน์ในด้านการลดค่าใช้จ่ายของโรงงาน โดยผลิตเป็นก๊าซชีวภาพจากทะลายปาล์มและตะกอนปาล์ม ที่ได้ผ่านการวิจัย ค้นคว้า ทดลองจนสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้จริง จึงดำเนินการจัดตั้งระบบ พร้อมนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ส่วนหนึ่ง ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับ Burner ทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อใช้ประโยชน์ในกระบวนการอบยางแท่ง และยังสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน และส่งขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง” นายชำนาญ กล่าว

นายก้องกิต โกกนุทาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการด้านพลังงาน บริษัท ไทยอีสเทิร์น ไบโอ พาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถเพิ่มศักยภาพ และลดต้นทุนเชื้อเพลิง ลดต้นทุนของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันสามารถผลิตก๊าซชีวภาพจากทะลายปาล์มเปล่าและตะกอนปาล์มได้สูงสุด 928,363 ลูกบาศก์เมตร/ปี ที่นำไปทดแทนการใช้ LPG ในกระบวนการอบยางได้ 427,052.5 kg.LPG/ปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 1,304.48 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ใช้งบประมาณในการลงทุน 3.9 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนภายในของโครงการ 48.70% และระยะเวลาคืนทุนประมาณ 2.29 ปี

“บริษัทตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2030 หรือปี พ.ศ. 2573 โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากวัสดุหรือของเสียที่ไม่ใช้แล้วมาก่อให้เกิดประโยชน์ ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายก้องกิต กล่าว