พรุ่งนี้(4 พ.ย.65) กกพ.เปิดสัมมนาออนไลน์ ให้คำแนะนำยื่นเสนอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,203 MW

ผู้ชมทั้งหมด 1,205 

กกพ. เตรียมเปิดสัมมนาออนไลน์ 4 พ.ย. 2565 นี้ ให้ข้อมูลแนะนำเบื้องต้นในการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า หลังออกประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 ปริมาณรวม 5,203 เมกะวัตต์ เบื้องต้นพบ มีผู้สนใจยื่นตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ปริมาณ 7-8 เท่า ยันโครงการใดมีความพร้อมได้รับสิทธิ์พิจารณาคัดเลือกก่อน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมจัดสัมมนาออนไลน์เรื่อง “การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 สำหรับผู้ยื่นขอตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้า” ในวันที่ 4 พ.ย. 2565 เวลา 13.30-16.00 น. เพื่อให้คำแนะนำเบื้องต้นในการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า ทั้งข้อมูลเตรียมความพร้อมในเรื่องของ ขั้นตอนการรับซื้อไฟฟ้า,คำเสนอขายไฟฟ้า,การใช้ระบบบริหารจัดการคำเสนอขายไฟฟ้าและเอกสารที่เกี่ยวข้องในการรับซื้อไฟฟ้า, การวางหลักประกันการยื่นเสนอขายไฟฟ้าและเงื่อนไขสัญญาขายไฟฟ้า เป็นต้น  

ขณะที่ ความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 จำนวนรวม 5,203 เมกะวัตต์ ที่เปิดให้ผู้สนใจ ยื่นขอตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า เมื่อวันที่ 3 – 28 ต.ค. 2565 เบื้องต้นพบว่า มีผู้ประกอบการสนใจยื่นตรวจสอบฯ เป็นจำนวนมาก ประมาณ 7-8 เท่าของปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ระบุว่า การยื่นตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ,โซลาร์เซลล์รวมแบตเตอรี่ และพลังงานลม แต่ปริมาณการยื่นตรวจสอบฯที่ชัดเจน ยังต้องรอทางการไฟฟ้า สรุปข้อมูลอีกครั้ง เนื่องจากในบางพื้นที่อาจมีการยื่นทับซ้อนกัน ส่วนหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ยื่นคำขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการนี้ จะยึดหลักด้านความพร้อมของโครงการ หากโครงการใดที่มีความพร้อมมากที่สุดก็จะได้รับสิทธิ์พิจารณก่อน ซึ่งก็เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 ได้กำหนดไว้

สำหรับประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) พ.ศ. 2565-2573 แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน, สำหรับก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย),สำหรับพลังงานลม และสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 5,203  เมกะวัตต์

โดยทั้ง 4 ประเภทกำหนดกรอบเวลาเปิดรับซื้อไฟฟ้าดังนี้ 1. การไฟฟ้าจะออกประกาศให้ยื่นคำขอตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าระหว่าง 3-28 ต.ค. 2565 นี้  2.เปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าพร้อมเอกสาร ผ่านระบบ RE Proposal ในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงาน กกพ. (www.erc.or.th) ระหว่าง 4-25 พ.ย. 2565 นี้ 3. กกพ.ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกภายใน 15 มี.ค. 2566 จากนั้นจะให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป (ดูกรอบเวลาได้ที่เว็บไซต์ กกพ. www.erc.or.th )

สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 จำนวนรวม 5,203 เมกะวัตต์ กำหนดไว้ดังนี้ 1. ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 2. พลังงานลม 3.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และ 4. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS)

โดย มติ กพช. เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 กำหนดอัตรารับซื้อ FiT พลังงานหมุนเวียน สำหรับปี 2565-2573 ได้แก่ 1.) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) อัตรา 2.0724 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี  2.)พลังงานลม อัตรา 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี 3.) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี  

และ 2. กลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน จะรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ในรูปแบบสัญญา Partial-Firm (แบ่งตามช่วงเวลาและปริมาณขายไฟฟ้า) ที่ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ อัตรา 2.8331 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสัญญา 25 ปี

สำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี ) ให้ได้รับอัตรา FiT Premium 0.5 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ