“พลังงาน” สั่งหยุดนำเข้า LNG ช่วง ต.ค.-ธ.ค.นี้ ลดต้นทุนค่าไฟแพง

ผู้ชมทั้งหมด 543 

“สุพัฒนพงษ์” เผย  เร่งเจรจาพื้นที่ปิโตรเลียมคาบเกี่ยว “ไทย-กัมพูชา” ตั้งเป้า 10 ปีนำขึ้นมาใช้ หวังแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง ลั่น หยุดนำเข้า LNG ช่วงต.ค.-ธ.ค.นี้ หวังลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ด้าน “ก.พลังงาน” เตรียมชง กพช. เร็วๆนี้ พิจารณาแผนฉุกเฉิน รับมือค่าไฟแพงปลายปีนี้ เลื่อนปลดแม่เมาะโรงที่ 4 ลุยเจรจาซื้อก๊าซฯ แหล่งJDA เพิ่ม พร้อมมอบ กพฟ. เจรจาเพิ่มซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากลาวเพิ่ม ขณะที่ ชง กบง. ช่วงต.ค.นี้ คอลดแผน PDP ฉบับใหม่ 2022 เพิ่มสัดส่วนซื้อไฟพลังงานสะอาด

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ทิศทางอนาคตพลังงานไทย” ในงานเสวนา NEW ENERGY : แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน โดยระบุว่า รัฐบาล พยายามบริหารจัดการในทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้น โดยตั้งเป้าหมายหยุดนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่มีราคาแพงมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้ และหันไปใช้น้ำมันดีเซลในโรงไฟฟ้าก๊าซฯเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล การเจรจาขอซื้อก๊าซฯจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น การเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาล โดยกระทรวงพลังงานและกระทรวงต่างประเทศ ได้เร่งเจรจากับกัมพูชา เพื่อเร่งพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมคาบเกี่ยวระหว่างกัน เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยเร็วทั้ง 2 ประเทศ โดยหากเห็นชอบร่วมกัน ก็จะมีการเปิดให้ยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และตั้งเป้าหมายให้เกิดการผลิตได้ภายใน 10 ปี นับว่ารวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่พัฒนาปิโตรเลียมร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ที่ใช้เวลานานถึง 25 ปี 

“ขณะนี้  คณะกรรมการฯทั้ง 2 ประเทศ ระหว่างไทย-กัมพูชา ได้ฟื้นคณะกรรมการเพื่อเตรียมเจรจาร่วมกันแล้ว และราคาพลังงานตลาดโลกที่แพงขึ้น เป็นปัจจัยเร่งให้ทั้ง2ประเทศเห็นตรงกันว่าควรพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมขึ้น”

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน บรรยายในหัวข้อ “แผนพลังงานชาติ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” กล่าวในหัวข้อ “แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน” พบกับผู้บริหารภาครัฐ โดยระบุว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในเร็วๆนี้ พิจารณาแผนฉุกเฉินด้านพลังงาน เพื่อรองรับสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่จะปรับสูงขึ้นในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวในปลายปีนี้ ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค.2565 เพื่อลดผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าในช่วงปลายปี โดยแผนสำรองนั้น จะเสนอพิจารณาเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ โรงที่ 4 ขนาดกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ออกไปก่อน รวมถึง การเจรจาขอซื้อก๊าซฯจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA) เพิ่มเติม แม้ว่าราคาก๊าซฯ อาจแพงขึ้นบ้าง แต่ก็ถูกว่าการจัดซื้อ LNG ตลอดจน กฟผ.จะต้องเจรจาของซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว เพิ่มเติมด้วย

ส่วนการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) นั้น จะมีการประชุมบอร์ด EV ในเร็วๆนี้ เพื่อพิจารณาเรื่องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพราะแบตเตอรี่ ถือเป็นต้นทุนราว 40% ของรถ EV ซึ่งจะเป็นการออกมาตรการส่งเสริมครบวงจรตั้งแต่การตั้งโรงงานผลิตฯ ไปจนถึงการทำลายแบตเตอรี่ รวมถึงเรื่องของการชาร์จไฟฟ้าด้วย ที่จะต้องปรับเรื่องระบบไฟฟ้าของบ้านอยู่อาศัยให้รองรับการชาร์จไฟฟ้าที่บ้านด้วย

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “พีดีพี Action Plan การจัดหาพลังงานสะอาดของประเทศ” โดยระบุว่า กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่ (PDP 2022) ระหว่างปี 2565-2580 ซึ่งจะอยู่ภายใต้หลักการสำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.เน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งจะครอบคลุมระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งและความมั่นคงรายพื้นที่ คำนึงถึง IPS และ Disruptive Technology เพื่อให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับ Energy Transition  

2.ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยอัตราค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนไม่แบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม เตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้าให้เกิดการแข่งขันด้านการผลิต การบริหารจัดการเพื่อนำ DER มาใช้ประโยชน์

3.ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยจำกัดปริมาณการปลดปล่อย CO2 ให้สอดคล้องตามเป้าหมายแผน NEP และ LTS ตามนโยบาย Carbon neutrality และ Net zero emission โดยการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

4.การเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้าและด้านการใช้ไฟฟ้า โดยมีการนำเทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดมาใช้อย่างเต็มที่

โดยปัจจุบัน แผน PDP 2022 คืบหน้าแล้ว 80% ซึ่งมีการจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศใหม่ ภายใต้สมมติฐานที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น จำนวนประชาการ อัตราการเติบโตของ GDP ที่ลดลงเหลือประมาณ 3% ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั้งจาก โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง(HST) รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพ/ปริมณฑล และใน 6 เมืองหลัก(MRT) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) และนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) หรือ นโยบาย 30@30 รวมถึง การปรับแผนอนุรักษ์พลังงาน(EEP) ที่เพิ่มเป้าหมายเป็น 40% จากเดิม 30% ตลอดจน สมมติฐานผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก(VSPP) และการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง(IPS)

ขณะที่ด้านเทคนิค ได้พิจารณาเรื่องเกณฑ์ความมั่นคง(LOLE) ข้อมูลโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันแล้วในปัจจุบัน ศักยภาพสายส่งไฟฟ้าระบบภูมิภาค ตลอดจนประเภทของโรงไฟฟ้า เทนโนโลยีทางเลือกที่จะนำมาพิจารณาในแผน เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซฯ จะต้องมีไฮโดนเจน เข้ามาร่วมในสัดส่วนประมาณ 20% เป็นต้น

ตอนนี้ PDP Action Plan 2022 ก็เตรียมไว้ 3-4 ทางเลือก เพื่อเสนอ กบง. พิจารณาในเดือน ต.ค.นี้ และเสนอกพช.ในช่วงปลายปี ก่อนเริ่มใช้ในปีหน้า และมุ่งไม่สู่การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ให้มากกว่า 50% เพื่อตอบโจทย์ Carbon neutrality ในปี ค.ศ. 2050”

อย่างไรก็ตาม ภาคพลังงานมีการปลดปล่อยคาร์บอน ราว 330 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นภาคพลังงาน ราว 250 ล้านตัน และภาคไฟฟ้า ราว 88 ล้านตัน ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมาย Carbon neutrality ในปี ค.ศ. 2050 นั้น ทาง สผ. ได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการผลิตไฟฟ้า ในปี 2573 ประมาณ 78 ล้านตัน ,ในปี 2580 ประมาณ 50 ล้านตัน และปี2593 ประมาณ 44 ล้านตัน โดยการจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวนั้น จะต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในแผน PDP ฉบับเดิม (PDP 2018 Rev.1) ปี 2561-2580 ได้เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ระยะสั้น 10ปี (2565-2573) ประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ คาดว่า ภายในปีนี้ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า โครงการโซลาร์ฟาร์ม ประมาณ 2,300 เมกะวัตต์ โซลาร์ฯ+ แบตเตอรี่(ESS) ประมาณ1,000  เมกะวัตต์ และพลังงานลม