“พลังงาน” เพิ่มกำลังผลิตโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน กฟผ. แตะ5,325 เมกะวัตต์ ในปี 2580

ผู้ชมทั้งหมด 755 

“สุพัฒนพงษ์” กำชับ กฟผ.เร่งพัฒนาระบบสายส่ง รองรับผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม ไฟเขียว ขยายกำลังผลิตโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน แตะ 5,325 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 ด้าน กฟผ.ผนึกกำลังปลูกป่าล้านไร่ ลดโลกร้อน ภายในปี 2583 หวังลดปล่อยคาร์บอน 23-24 ล้านตัน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษ เปิดงานการประกาศยโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของ กฟผ. (EGAT Carbon Neutrality) และพิธีลงนามความร่วมมือโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม โดยระบุว่า ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องช่วยกันควบคุมสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดความแปรปรวนตามข้อตกลงของประชาคมโลก ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศในหลายประเทศทั่วโลก ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น รัฐเท็กซัส สหรัฐ เกิดหิมะตกหนักอุณหภูมิติดลบ ยุโรปเกิดน้ำท่วม ออสเตรเลียเกิดปัญหาไฟไหม้

และประเทศไทยเองก็เผชิญกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.ของทุกปี สภาพอากาศจะหนาวเย็น แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้อากาศกลับร้อนขึ้น เป็นต้น ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทย จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ที่ประมาณ 300-400 ล้านตันต่อปี โดยภาคพลังงานและภาคขนส่งเป็นอยู่ปล่อยคาร์บอนฯในปริมาณสูง ดังนั้นหากไม่ดำเนินการใดๆ ประเทศไทยอาจต้องเสียเม็ดเงินในการดูดซับคาร์บอนที่มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อตัน หรือ 7-8 แสนล้านบาทต่อปี เพื่อให้เป็นไปตามบังคับของโลก

ฉะนั้น การที่ กฟผ.กำหนดเป้าหมาย จะปลูกป่า 1 ล้านไร่ ในปี ค.ศ.2031-2040 จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯได้ 1.2 ล้านตันต่อปี หรือ รวมอยู่ที่ 23-24 ล้านตัน ขณะเดียวกัน กฟผ.ก็ได้ปรับพอร์ตธุรกิจ ลงทุนผลิตไฟฟ้าให้สะอาดมากขึ้น และมีโครงการที่น่าภาคภูมิใจ คือ โครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนสิรินธร ที่เป็นโครงการไฮบริดที่ใหญ่สุดในโลก

“ขอบคุณกระทรวงทรัพยฯ ที่ให้ความร่วมมือในการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งในอนาคตเราจะเป็นต้นแบบของประเทศที่ให้ความสำคัญกับคาร์บอนต่ำและนำไปสู่การสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม”

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทย มีเป้าหมายที่จะลดการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2065-2070 นั้น การผลิตไฟฟ้าของประเทศที่รองรับพลังงานสะอาดที่จะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าหลักมากขึ้นนั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบสายส่งให้รองรับ และการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่เป็นพลังงานสะอาดก็จะต้อสะอาดตั้งแต่ต้นทางการผลิตไฟฟ้าที่จะต้องมาจากพลังงานสะอาดด้วย ดังนั้น กฟผ.จะยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าให้เกิดความยืดหยุ่นรองรับการจัดหาไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งก็เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย แต่ก็เชื่อว่า ด้วยศักยภาพของกฟผ.จะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน   

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ประเทศไทยเตรียมเข้าร่วม การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 26 หรือการประชุม COP26 ในช่วงต้นเดือนพ.ย.นี้  ที่จะหารือถึงข้อตกลงความร่วมมือในการจำกัดให้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยจะพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมในเวทีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตั้งแต่ปี 2535 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 7-20% ของภาวะปกติก่อนปี 2563 และลดลงให้ได้ 20-25% ของภาวะปกติในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยในการประชุมครั้งนี้ มีความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ภายในปี 2593

ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดกลยุทธ์ให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ใน 3 ด้าน คือ 1. มาตรการปลูกป่า 11 ล้านไร่ 2.มาตรการปลูกป่าเศรษฐกิจ 16 ล้านไร่ และมาตรการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบาท 3 ล้านไร่ ซึ่งจะดูดซับคาร์บอนฯได้ประมาณ 120 ล้านตันต่อปี จากที่ประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอนฯ ปีละ 350 ล้านตัน นับว่ายังเหลือการดำเนินการอีกจำนวนมาก ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ยังได้ออกมาตรการให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมปลูกป่า โดยกำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย(T-VER) ซึ่งเอกชนจะได้รับคาร์บอนเครดิตในสัดส่วน 90% และภาครัฐ ได้สัดส่วน 10%

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ตระหนักถึงความสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065- 2070 ตามแนวทางใน “แผนพลังงานชาติ” หรือ National Energy Plan ที่ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 โดย กฟผ.ได้กำหนดนโยบาย Carbon Neutrality ภายในปี พ.ศ.2593 หรือ ค.ศ.2050 ภายใต้กลยุทธ์ Triple S ประกอบด้วย

S – Sources Transformation ที่เป็นการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ด้วยการกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. เพิ่มเป็น 5,325 เมกะวัตต์ ภายในปี ค.ศ.2037 จากเดิมที่ได้อนุมัติอยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย มั่นคงแข็งแรง หรือ การทำเรื่อง Grid Modernization เข้ามาใช้ในปี ค.ศ.2045 และการใช้เทคโนโลยีทันสมัยและพลังงานทางเลือกสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน ให้ได้ 66,000 ล้านหน่วยภายในปี ค.ศ.2050

S- Sink Co-creation ที่เป็นการดูดซับเก็บกักคาร์บอน ด้วยเทคโนโลยี CCUS ภายในปี ค.ศ.2045 เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5-7 ล้านตัน

และ S –Support Measures Mechanism ที่เป็นกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอบไดออกไซด์ โดยการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ(Energy Efficiency) เช่น การส่งเสริมใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ฉลากเบอร์ 5  โครงการห้องเรียนสีเขียว การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เบอร์5 บ้านและอาคาร เบอร์ 5 และ การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน ตลอดจนการให้ความสำคัญกับ Bio-Circular-Green (BCG) Economy รวมถึงการกำหนดเป้าหมายปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในปี ค.ศ.2040

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดเสวนาภายใต้หัวข้อ “สานใจ ปลูกป่าล้านไร่ : Lower – Carbon Future for All” โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานพันธมิตร ที่มาร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ได้แก่ นายจิระศักดิ์ ชูความดี รองอธิบดีกรมป่าไม้ นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล  รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มาร่วมอัพเดทสถานการณ์ทรัพยากรทางธรรมชาติของไทย และแนวทาง กลยุทธ์ รวมถึงเป้าหมายภายใต้ความร่วมมือโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ส่งเสริมศักยภาพในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซต์ นอกจากนี้ในงานยังมีการเปิดตัวโครงการ “ชวนยูปลูกป่า” แนะนำ Application ECOLIFE ที่จะชวนคนไทยมาร่วมกันปลูกต้นไม้

หนุนนำประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนไปด้วยกัน และเปิดตัวเพลง “1+1” ซึ่งเป็นเพลงประจำโครงการปลูกป่าล้านไร่ของ กฟผ. โดยมี ว่าน ธนกฤต พานิชวิทย์ เป็นทั้งผู้แต่งและขับร้องเพลงนี้