“พลังงาน” เล็งเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตฯ สิ้นปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 1,269 

กระทรวงพลังงาน จับมือ กระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามความร่วมมือบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า ให้บรรลุกรอบแผนPDP ที่กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม 200 เมกะวัตต์ คาดเริ่มเปิดรับซื้อสิ้นปีนี้ หวังช่วยชาติลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2593

วันนี้ (14 ก.พ.2565) กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า(Waste-to-Energy) และการส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมเป็นแสดงความยินดีในความร่วมมือระหว่าง 2 กระทรวง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ความร่วมมือดังกล่าว เป็นไปตาม “แผนพลังงานชาติ” หรือ National Energy Plan ที่กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจาขยะมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบัน ได้แบ่งขยะออกเป็น 2 ประเภทเชื้อเพลิง คือ ขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรม ซึ่งในส่วนของขยะชุมชน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย โดยมีกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ส่งเสริมรับซื้อผลิตไฟฟ้า ส่วนขยะอุตสาหกรรม ก็เช่นกัน จะมีกระทรวงอุตฯ เป็นผู้บริหารจัดการ โดยกระทรวงพลังงาน จะร่วมส่งเสริมรับซื้อผลิตไฟฟ้า เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางกำจัดขยะของประเทศ ตามเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนประเทศตาม เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และ การขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว)

“คาดว่า การรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จะเริ่มกระบวนการได้ในช่วงสิ้นปีนี้ แต่จะมีปริมาณเท่าไหร่ และราคารับซื้อเป็นอย่างไรนั้น ยังต้องรอผลการศึกษาอีกครั้ง”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมผลักดันประเทศให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ.2050 ด้วยการนำขยะอุตสาหกรรม มาเป็นกำจัดด้วยการนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างถูกวิธี

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าจากแนวนโยบายในการสนับสนุนการบริหารจัดการขยะเพื่อแก้ปัยหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยการส่งเสริมการนำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานทดแทน การใช้พลังงานทดแทนดังกล่าว ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าของขยะและลดต้นทุนในการกำจัดขยะได้นอกจากนี้ ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ.2050 หรือ ปี พ.ศ.2593 อีกด้วย

ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการสนับสนุนการบริหารจัดการขยะ โดยทำการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะชุมชน และขะอุตสาหกรรม รวมเป็นปริมาณทั้งสิ้น 343.94 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นขยะชุมชน 313.16 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30.78 เมกะวัตต์ และในส่วนของการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตความร้อนมีปริมาณทั้งสิ้น 135 ktoe

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน ปริมาณขยะยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำจัดที่ถูกต้องและเกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การร่วมมือกันในครั้งนี้ระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นบันไดก้าวแรกที่จะช่วยผลักดันให้การจัดการขยะของประเทศให้เป็นไปในทิสทางที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ เบื้องต้น พบว่า ปริมาณขยะอุตสาหกรรม มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกๆปี โดยคาดว่า จะมีประมาณ 5-6 ล้านตันต่อปี ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาประเมินศักยภาพอย่างละเอียดอีกครั้งถึงปริมาณที่จะสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานได้จริง และจะได้มีการกำหนดปริมาณศักยภาพด้านพลังงานของขยะอุตสาหกรรมในแผนพลังงานทดแทนต่อไป

“แผนPDP ปัจจุบัน ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากขยะเป็น 600 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และขยะอุตฯ 200 เมกะวัตต์ ซึ่งหากความร่วมมือครั้งนี้ พบว่า มีปริมาณขยะอุตฯ ที่จะนำไปผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น ในอนาคตกระทรวงพลังงาน ก็พร้อมปรับเพิ่มสัดส่วนรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตฯให้เพิ่มขึ้นตามศักยภาพด้วยเช่นกัน”

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว เป็นหนึ่งในแนวทางส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) โดยภายใต้ความร่วมมือนี้ กระทรวงอุตฯ จะแลกเปลี่ยนข้อมูล ปริมาณขยะอุตสาหกรรม พื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพ และจัดทำแผนฯ เพื่อบริหารจัดการขยะฯ รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการบริหารจัดการขยะอุตฯอย่างถูกวิธี ซึ่งทั้ง 2 กระทรวงฯ จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมฯ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามโมเดล BCG ร่วมกันต่อไป