“พิธา” ถก “สมาคมสายการบินฯ” ลั่นรัฐบาลใหม่เร่งแก้ 3 ปัญหาอุตสาหกรรมการบิน

ผู้ชมทั้งหมด 14,068 

“พิธา” ถก สมาคมสายการบินฯ” ลั่นหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เร่งแก้ 3 ปัญหาอุตสาหกรรมการบิน ด้าน 7 สายการบิน หวังรัฐบาลใหม่ดันไทยสู่ฮับการบินอาเซียน ช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ณ โรงเเรมเมอร์เคียว กรุงเทพ มักกะสัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เเละตัวแทนผู้จัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ร่วมประชุมหารือกับสมาคมสายการบินประเทศไทย และผู้บริหารรวม 7 สายการบินสัญชาติไทย ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ สายการบินไทยสไมล์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท เพื่อผลักดันมาตรการสำคัญเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูธุรกิจสายการบินให้เเข็งเเกร่ง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ พร้อมรับฟังนโยบายปัญหา และข้อเสนอแนะ สู่การให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การท่องเที่ยวเดินทางในภูมิภาค 

โดย นายพิธา กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นต่อเนื่องมาจากการที่ตนได้หารือกับสมาคมนักท่องเที่ยวในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุคสาหกรรมการบิน และเป็นประเด็นที่ได้รับข้อมูลตั้งแต่สมัยที่เป็นฝ่ายค้านในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งมีเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องแก่ไขปัญหาใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.เรื่องของต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับภาษีต่างๆ ที่ผู้ประกอบการสายการบินจำเป็นต้องจ่ายให้กับหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในเรื่องราคาค่าโดยสารที่สูงขึ้น อาทิ การกำหนดอัตราที่เหมาะสมของภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน (excise tax)เป็นต้น ดังนั้นจะต้องไปดูในรายละเอียดร่วมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย

2.การเร่งแก้ไขอุปสรรคและข้อจำกัดของอุตสาหกรรมการบินไทย เช่น เร่งกระบวนการเพิ่มอุปทานของอุตสาหกรรมการบิน หรือ ขั้นตอนการนำเข้าเครื่องบิน  การบูรณาการทำงานระหว่างสนามบินและสายการบิน เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการของสายการบินที่เกี่ยวกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการบิน ที่เป็นต้นทุนประมาณ 15-20% ซึ่งต้องไปดูว่าต้นทุนดังกล่าวสามารถลดลงได้อย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้กระทบราคาตั๋วโดยสารที่ประชาชนต้องจ่าย.

3. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมการบิน เช่น การเจรจาเพิ่มสิทธิการบิน ในประเทศกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวไทย  การลดค่าธรรมวีซ่า เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวจาก อินเดีย เกาหลีใต้ และจีน เดินทางเข้าไทยมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น เช่น ฟรีวีซ่าในระยะสั้น ทั้งนี้ให้พิจารณาตามความเหมาะสม และยุติธรรมที่สุด ทั้งนี้จะมีการหารือครั้งนี้เป็นครั้งแรก และจะมีการหารือเพื่อแก่ไขปัญหาในรายละเอียดร่วมกันในครั้งต่อไป

นายพิธา กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังหารือเรื่องศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่ปัจจุบันไทยมีเพียง 2 แห่ง เท่านั้นไม่เพียงพอต่อการซ่อมบำรุงอากาศยานของสายการบินต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการส่งเครื่องบินไปซ่อมบำรุงในต่างประเทศ ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 17% ของต้นทุนอุตสาหกรรมการบิน ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งพิจารณาในรายละเอียดว่าจะผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วได้อย่างไร

ต่อข้อถามว่าหากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะวางเป้าหมายด้านอุตสาหกรรมการบินในอีก4 ปีข้างหน้าอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลและรัฐบาล จะต้องทำให้อุตสาหกรรมด้านการบิน ในฐานะเป็นหน้าด่านของนักท่องเที่ยว พร้อมกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ได้ โดยจะต้องวางแนวทางให้สายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในด้านต้นทุนราคาค่าโดยสารให้เหมาะสมกับนักท่องเที่ยว มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น

ด้าน นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ อุปนายกสมาคมสายการบินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการหารือดังกล่าวเห็นว่านายพิธา และผู้แทนพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค มีความเข้าใจถึงปัญหาของธุรกิจการบิน และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วมาก มั่นใจว่าน่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ทางสมาคมสายการบินฯ จึงขอฝากความหวังไว้ด้วย