มติกบน.ตรึงราคาดีเซล 32 บาทต่อลิตร 1 สัปดาห์ขอประเมินผลกระทบ

ผู้ชมทั้งหมด 600 

กบน.เห็นชอบตรึงราคาขายปลีกดีเซล อยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร 1 สัปดาห์นี้ ขอประเมินสถานการณ์ราคาตลาดโลก และภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ห่วงกระทบประชาชน ด้าน สนพ.แย้มจ่อเสนอ กบง.ในเดือน พ.ค.นี้ พิจารณาลดเกรดดีเซล ต่ำกว่า บี5 ชี้หากเป็น บี3 จะกดราคาขายปลีกลง 25 สต.ต่อลิตร

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้คงราคาน้ำมันดีเซลในสัปดาห์นี้ไว้ที่ 32 บาทต่อลิตรเช่นเดิม เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) วันที่ 6 พ.ค. 65 อยู่ที่ 160.65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

สำหรับการพิจารณาของ กบน.ดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2565 เรื่อง 10 มาตรการลดค่าครองชีพประชาชน โดยให้ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย.2565 หลังจากนั้นรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง โดย กบน.ได้พิจารณาปรับราคาน้ำมันดีเซลครั้งแรกมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 เป็นต้นมา โดยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร และจะทยอยปรับเพดานราคาลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันต่อไป

ขณะที่ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน (8 พ.ค.) ติดลบ 66,681 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 33,258 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 33,423 ล้านบาท

สถานะกองทุนฯ ตอนนี้มีเงินสด 12,932 ล้านบาท ที่สามารถจ่ายชดเชยให้กับผู้ค้า มาตรา 7 ได้อยู่ ถือว่ายังมีสภาพคล่องที่จะช่วยตรึงราคาดีเซลไว้ได้ และรอเงินกู้เข้ามาเติมประมาณเดือนมิ.ย.นี้ ประกอบกับประเมินในเบื้องต้นว่า ในแถบยุโรปใกล้ผ่านพ้นฤดูหนาวน่าจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงและราคาน่าจะปรับลดลงได้ในระยะต่อไป”

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการตรึงราคาดีเซล ไว้ที่ 32 บาทต่อลิตร ราคาที่แท้จริงจะต้องปรับขึ้น 11.35 บาทต่อลิตร แต่ตามมติครม.ดังกล่าว ที่ให้ภาครัฐเข้าไปดูแลครึ่งหนึ่ง ก็เท่ากับราคาดีเซล ที่ประชาชนต้องจ่ายจะอยู่ที่ ประมาณ 38 บาทต่อลิตร

อีกครั้งการรายงานข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน พบว่า หากการปรับขึ้นราคาดีเซลไปแตะ 32 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ยอดการใช้ดีเซล ช่วงเดือนพ.ค.เหลือประมาณ 66 ล้านลิตรต่อวัน จากเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 70 ล้าลิตรต่อวัน แสดงให้เห็นว่าประชาชนเริ่มปรับตัวรับมือกับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคา ด้วยการประหยัดการใช้น้ำมัน ขณะที่ผู้ประกอบการขนส่งก็ได้เพิ่มการขนส่งต่อเที่ยวให้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า ในส่วนของค่าการตลาดน้ำมันดีเซลนั้น ทางภาครัฐได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ค้าน้ำมันให้ดูแลค่าการตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ซึ่งตามสถานการณ์ปกติ ค่าการตลาดเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.80-2.00 บาทต่อลิตร แต่ปัจจุบันพบว่า ในบางวันค่าการตลาดต่ำมาก อยู่ที่ประมาณ 1.40 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าการตลาดเบนซิน ก็ไม่ได้สูงมากและอยู่มในระดับที่รับได้ โดยช่วงที่ผ่านมาค่าการตลาดเฉลี่ย ของดีเซลอยู่ที่ประมาณ 1.14 บาทต่อลิตร และเบนซิน อยู่ที่ 1.96 บาทต่อลิตร

ส่วนการปรับสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซล(บี100) ในน้ำมันดีเซล จากปัจจุบันกำหนดผสม บี100 ในสัดส่วน 5% หรือ บี 5 นั้น ทางกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมในการปรับลดสัดส่วนการผสมลง เพื่อกดราคาดีเซลให้ถูกลง เนื่องจากปัจจุบันราคาบี100 ปรับสูงขึ้นมาก เกือบแตะ 60 บาทต่อลิตร ฉะนั้น หากปรับลดสัดส่วนการผสมเหลือ3% หรือ บี 3 ก็คาดว่า จะกดราคาขายปลีดดีเซล  ลงได้ 50 สตางค์ต่อลิตร

วันนี้ ราคาบี5 หน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 36 บาทต่อลิตร และหากเป็นบี 3 จะอยู่ที่ 35.50 บาทต่อลิตร ก็เท่ากับราคาถูกลงประมาณ 25 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งเป็นสมมติฐานเท่านั้น การจะปรับลดสัดส่วนผสมหรือไม่จะต้องเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)พิจารณา ภายในเดือนพ.ค.นี้ เนื่องจากมาตรการลดสัดส่วนการผสมอยู่ที่ บี5 จะสิ้นสุดในเดือนพ.ค.นี้”