มติ กพช.เพิ่มซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนล็อตใหม่ 3,660 เมกะวัตต์

ผู้ชมทั้งหมด 3,455 

มติ กพช. ปรับแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตาม PDP 2018 Rev.1 จากเดิม 10,000 เมกะวัตต์ เป็น 12,700 เมกะวัตต์ พร้อมมอบ กกพ.เตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่เพิ่มเติมอีก 3,660 เมกะวัตต์ จากรอบแรกรับซื้อ 5,203 เมกะวัตต์ สนองความต้องการใช้พลังงานสะอาด ขณะที่สั่งเดินหน้าร่างสัญญา PPA รับซื้อไฟจากลาว โครงการน้ำงึม 3 และ โครงการเซกอง 4A และ 4B

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยระบุว่า ที่ประชุม กพช. ได้รับทราบแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ที่เสนอรับซื้อไฟฟ้าเดิม 10,000 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็นอยู่ที่ 12,700 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2566- 2573  ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การลดผลกระทบเรื่องค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) ลง ขณะเดียวกันกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ยังจะเอื้อให้ประเทศไทย สามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ของประเทศไทย อีกทั้งยังจะช่วยลดผลกระทบค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนด้วย

ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่รับซื้อเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่จะเพิ่มเชื้อเพลิงโซลารฯ ,ลม และขยะอุตสาหกรรม รวมถึงลดการจัดซื้อไฟฟ้าพลังานน้ำจากลาว แต่จะคงไว้เฉพาะการจัดซื้อการผลิตจากเขื่อนในแหล่งที่เหมาะสม

รวมทั้ง กพช. ยังมีมติให้รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมจากขยะอุตสาหกรรม และกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง เนื่องจากการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรอบแรก ตามการออกประกาศฯของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กพช.) มีผู้สนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น รอบใหม่ที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม จะเป็นเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ลม โซลาร์ฯ และขยะอุตสาหกรรม ภายใต้สัญญาประเภท Non Firm ภายใต้ระเบียบฯเดิมของ กกพ. และอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามเดิม โดยที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้ กกพ.ไปจัดทำรายละเอียดในการออกประกาศต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช.ยังมอบหมายให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กผฟ.) ดำเนินการลงทุนปรับปรุงสายส่งไฟฟ้า ให้พร้อมรองรับกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น

อีกทั้ง กพช.ยังรับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จากโครงการน้ำงึม 3 ,โครงการเซกอง 4A และ 4B ในลาว ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการมาต่อเนื่องและผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และจะนำไปดูรายละเอียดในร่างสัญญาฯ แล้วส่งต่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง ก่อนดำเนินการลงนาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำเพิ่มเติม ทำให้การจ่ายไฟฟ้ามีปริมาณในระบบที่มีความเสถียร

ทั้งนี้ โครงการน้ำงึม 3 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ 468 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เดือน ม.ค.2569 ส่วนโครงการเซกอง 4A และ 4B กำลังการผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ 347 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เดือน ม.ค.2576 ซึ่งทั้ง 2 โครงการ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 27 ปี

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กพช.ยังรับทราบผลการดำเนินการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในปี 2564-2568 ซึ่งทาง กกพ.เป็นผู้ดำเนินการและสอดคล้องกับมติกพช.เดิมที่กำหนดให้ในวันที่ 25 ธ.ค.2563 และวันที่ 1 เม.ย.2564 โดยนโยบายที่ กพช.ได้กำหนดให้โครงสร้างไฟฟ้าฯ จะต้องคงอัตราค่าไฟฟ้าฐานเดิมเท่ากับค่าพลังงานไฟฟ้า และค่าความต้องการของไฟฟ้า ในการกำหนดค่าไฟฟ้าขายปลีกและคงอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในวงกว้าง และสอดคล้องกับวิกฤตพลังงานด้วย

รวมถึง ชะลอการจำแนกค่าไฟฟ้าสาธารณะออกจากไฟฟ้าฐานและให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายดำเนินการติดตั้งมิเตอร์สาธารณะที่ครบถ้วน เพื่อจำแนกค่าใช้จ่ายได้ชัดเจน เหมาะสม และกำหนดให้มีการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสโดยการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีการติดตั้งมิเตอร์ ขนาด 5 แอมป์ และมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน

“เรื่องค่าไฟฟ้า Ft รอบใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) ที่ทางกกพ.เปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่นั้น ทาง กพช.ก็ขอให้ดูผลกระทบกับประชาชน อุตสาหกรรมต่างๆ เพราะแนวโน้มค่าเชื้อเพลิง LNG ก็ลดลง ท่านเลขา กกพ.ก็รับไปดำเนินการ ซึ่งที่ประชุมไม่ได้ลงในรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องที่กกพ.รับไปดำเนินการ”

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า เดิมโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ. 2565 – 2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ในรอบแรก แต่ในรอบถัดไป จะเพิ่มอีก 3,660 เมกะวัตต์ โดยจะเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าประเภทโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งเดิมรับซื้อ 2,368 เมกะวัตต์ รอบใหม่รับซื้อเพิ่ม 2,632 เมกะวัตต์ รวมเป็น 5,000 เมกะวัตต์ ,การรับซื้อไฟฟ้าประเภทพลังงานลม เดิมรับซื้อ 1,500 เมกะวัตต์ จะเพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์ รวมเป็น 2,500 เมกะวัตต์ ,การรับซื้อไฟฟ้าประเภทก๊าซชีวภาพ รับซื้อเท่าเดิม ซึ่งเดิมมีผู้ยื่นเสนอโครงการร 65 เมกะวัตต์ แต่ไม่มีผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณา จึงจะเปิดรับซื้อตมโควตาเดิม  และขยะอุตสาหกรรม เดิมกำหนดรับซื้อ 200 เมกะวัตต์ แต่รับซื้อ 100 เมกะวัตต์แรกก่อน และมีศักยภาพเพิ่มเติมอีก 30 เมกะวัตต์ ก็จะรวมเป็นรับซื้อ 130 เมกะวัตต์