“มนพร” รอข้อสั่งการจากนายกฯ ย้ายท่าเรือคลองเตย ชะลอประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ 17 ไร่  

ผู้ชมทั้งหมด 356 

มนพร” เตรียมตั้งทีมศึกษารื้อแผนแม่บทย้ายท่าเรือคลองเตยออกนอกพื้นที่กรุงเทพฯ แก้ปัญหาการจราจรแออัด ลดมลพิษฝุ่นละออง ย้ำต้องไม่ให้ประชนเดือดร้อน ชี้ยังไม่ได้รับหนังสือเวียนจากนายกฯ พร้อมชะลอประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ 17 ไร่

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ออกหนังสือเวียนถึงกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับ ข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรื่องการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ออกจากพื้นที่ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ รวมถึงแก้ไขปัญหาการจราจร และลดมลพิษด้านฝุ่นละอองว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอหนังสือข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือ คลองเตยของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ใหม่ทั้งหมด ซึ่งแผนเดิมมีการศึกษาแล้วเสร็จตั้งแต่เมื่อปี 2562 แต่เวลานี้ผ่านมา ถึงปี 2567 ยังไม่ได้ดำเนินการ ดังนั้นคงต้องนำมาพิจารณารายละเอียดใหม่ โดยนำแผนเดิมเป็นต้นแบบ และพิจารณาดูว่าจะพัฒนาส่วนไหนอย่างไรก่อนให้สอดคล้องกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

นางมนพร กล่าวอีกว่า โดยหลักการแล้วคงไม่ได้เป็นการย้ายสิ่งที่มีอยู่ในท่าเรือคลองเตยทั้งหมดออกไป คงเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น การขนถ่ายสินค้า เป็นต้น เนื่องจากตามแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือคลองเตยเดิมมีเรื่องการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพ มีทั้งศูนย์การค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ศูนย์โลจิสติกส์ สติกส์ โดยยกระดับเป็น Modern Port Cityบนพื้นที่ทั้งหมด 2,300 ไร่ รวมถึงการจัดสรรพื้นที่บางส่วนเป็นคอมมูนิตี้ให้กับชุมชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในส่วนนี้แม้ว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เคยมีการสำรวจความต้องการของชุมชนไว้แล้วก็ตามแต่ก็จำเป็นต้องพิจารณาใหม่ด้วยความรอบคอบไม่ใหกระทบกับชุมชนเพราะชุมชนถือเป็นผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก

นางมนพร กล่าวต่อว่า เมื่อมีการตั้งคณะทำงานแล้วก็จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกรุงเทพมหานคร มาประชุมและทำแผนปฏิบัติการร่วมกันให้ชัดเจน โดยเน้นการนำพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ปล่อยร้างไม่เกิดมูลค่ามาพัฒนาให้เป็นประโยชน์ เพื่อลดความแออัดของชุมชน แก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่น ลดมลพิษด้านฝุ่นละออง และคืนพื้นที่สีเขียวเป็นปลอดให้คนกรุงเทพฯ

นางมนพร กล่าวว่า ในส่วนของโครงการนำร่องเปิดประมูลพื้นที่ 17 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับอาคารสำนักงานของ กทท. เพื่อให้เอกชนเช่าพัฒนาเชิงพาณิชย์นั้น คงต้องชะลอไว้ก่อน เพราะต้องทำแผนแม่บทของการพัฒนาในภาพใหญ่ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน