“มนพร” เร่งกรมเจ้าท่าเบิกจ่ายงบค้างท่อปี 66 ขณะที่ปี 67 เตรียมของบ 7,700 ล้านบาท

ผู้ชมทั้งหมด 10,389 

“มนพร” เร่งกรมเจ้าท่าเบิกจ่ายงบค้างท่อปี 66 กว่า 1,600 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ปี 67 เตรียมของบ 7,700 ล้าน ลุยสร้างท่าเรือ พัฒนาแอพพลิเคชั่น GPS ติดตามเรือโดยสารเชื่อมระบบขนส่งทางบก ทางราง

ผู่สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมเจ้าท่า (จท.) โดยนางมนพร เปิดเผยว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2566 นั้นกรมเจ้าท่าเบิกจ่ายงบประมาณได้เพียง 63% จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร 4,700 ล้านบาท ดังนั้นยังเหลืองบประมาณที่ต้องเบิกจ่าย (งบค้างท่อ) อีกประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่าจะต้องดำเนินการเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

สำหรับงบประมาณของปี 2566 ที่เบิกจ่ายล่าช้าไม่เป็นไปตามเป้านั้นเนื่องจากบางโครงการเอกชนที่สนใจร่วมประมูลยังไม่มีคุณสมบัติพอในการประมูล รวมถึงบางโครงการมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง อาทิ โครงการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน-ชะอำ และการป้องกันตลิ่งพังเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งก็ต้องไปเร่งผู้รับเหมาให้เร่งดำเนินการก่อสร้างโดยเร็วเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณที่ค้างท่อให้หมด

ส่วนงบประมาณปี 2567 ของกรมเจ้าท่าในเบื้องต้นคาดว่าจะเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณ 7,700 ล้านบาท ซึ่งการจัดสรรงบประมาณนั้นตนได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าดูในรายละเอียดความจำเป็นของโครงการเร่งด่วนในแต่ละโครงการ และต้องเร่งรัดดำเนินโครงการ เพื่อการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมาย และไม่ก่อให้เกิดงบประมาณค้างท่อเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงเป็นตัวชี้วัดการทำงานของบุคคลากรในกรมฯ อีกด้วย อย่างไรก็ตามงบประมาณปี 2567 นั้นส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการสร้างท่าเรือ ขุดลอกคลอง รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยี

สำหรับการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางเรือนั้น นางมนพร กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า เร่งดำเนินการ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้บริการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองแสนแสบ โดยในปีงบประมาณ 2567 กรมเจ้าท่าต้องนำระบบติดตามแบบเรียลไทม์ หรือ GPS มาบังคับใช้กับเรือโดยสารสาธารณะทุกลำในแม่น้ำเจ้าพระยา และบังคับใช้กับเรือโดยสารในคลองแสนแสบ ต้องติดตั้งระบบ GPS โดยกระทรวงคมนาคมจะออกประกาศกระทรวงเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในปี 2567

นอกจากนี้แล้วกรมเจ้าท่ายังมีแผนที่จะนำระบบ GPS ที่เป็นลักษณะของแอพพลิเคชั่นมาเชื่อมต่อระบบแอพพลิเคชั่น GPS กับรถเมล์ขสมก.และในอนาคตเชื่อมต่อกับระบบรางด้วย เพื่อให้ประชาชนเกิดความสะดวกสบายในการเดินทาง ช่วยยกระดับการบริการขนส่งทางน้ำ บก ราง มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น  

พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้กรมเจ้าท่านำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาตรวจจับวัดระดับเสียงเรือภัตตาคาร และเรือที่วิ่ง ด้วยความเร็วและเกิดเสียงดัง ในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกินกฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเสียงดังแล้วโทรมาแจ้งให้กับกรมเจ้าท่าเป็นระยะ ดังนั้นหากนำปัญญาประดิษฐ์มาตรวจจับก็จะทำให้ไม่ต้องให้มีใครมาร้องเรียนหรือฟ้องร้องกัน ซึ่งในเรื่องนี้ได้สั่งการให้ดำเนินการภายใน ปี 2567

ด้าน นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า การลงทุนพัฒนาปรับปรุงท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้เป็น Smart Pier นั้นในขณะนี้ได้ดำเนินการลงทุนไปแล้วจำนวน 10 ท่า ส่วนในปี 2567 มีแผนที่จะลงทุนพัฒนาท่าเรือโดยสารอีกจำนวน 2 ท่า คือ ท่าเรือปากเกร็ด และท่าเรือสะพานพระราม 7 อย่างไรก็ตามการลงทุนพัฒนาท่าเรือโดยสาร กรมเจ้าท่ามั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายตามแผน 29 ท่าเรือในปี 2568