รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนอีก 7 ปีเปิดบริการถึงหนองคายเชื่อมลาว-จีน

ผู้ชมทั้งหมด 1,842 

รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนกำลังจากมาปี 68 เปิดให้บริการถึงโคราช ปี 70 ถึงจ.หนองคายเชื่อมลาว-จีน รัฐบาลหวังยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางขนส่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน)  แบ่งการดาเนินงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา มีแนวเส้นทางโครงการผ่าน 5 จังหวัด มี 6 สถานี คือ สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา ซึ่ง 4 สถานีหลังเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ก่อสร้างใหม่ในโครงการนี้ รวมระยะทาง 253 กิโลเมตร โดยแบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา มีกรอบวงเงินรวมของโครงการ 179,412.21 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยรับภาระการลงทุนโครงการทั้งหมด และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบออกแบบ และติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าเครื่องกล ระบบควบคุมการเดินรถ จัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง และฝึกอบรมบุคลากร

ส่วนการดำเนินโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 354.5 กิโลเมตร เชื่อมไทย-ลาว-จีน อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างโยธาโดยฝ่ายไทยทั้งหมด คาดออกแบบแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 64 โดยทีมงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ประเมินกรอบวงเงินรวมของโครงการระยะที่ 2 ไว้เบื้อต้นที่ 252,347 ล้านบาท โดยโครงรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนจะไปเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-จีน กำหนดเปิดให้บริการเดินรถในปี 70 ซึ่งรัฐบาลให้ความคาดหวังว่าจะเป็นโครงการที่ยกระดับความสามารถการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนเชื่อมประเทศจีน ช่วยให้เกิดการกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตามปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งดำเนินโครงการในระยะแรก ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมาให้สามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ทั้งเส้นภายในปี 66 จากนั้นก็จะเป็นการวางระบบระบบอาณัติสัญญาณพร้อมเปิดให้บริการในปี 68 โดยการดำเนินโครงการในระยะแรกนั้นล่าสุดกระทรวงคมนาคม และกรฟท.ได้มีการลงนามในสัญญางานก่อสร้างโยธาอีก 5 สัญญา มูลค่าโครงการรวม 40,275 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 63 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรฟท. เปิดเผยภายหลังพิธีการลงนาม ว่า การดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน นั้นได้มีการก่อสร้างแล้วเสร็จไป 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ส่วนสัญญา 2-1 ช่วง สีคิว-กุดจิก การก่อสร้างมีความคืบหน้า 44% ส่วนการลงนามในสัญญาก่อสร้างงานโยธา 5 สัญญาวันนี้ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) มูลค่า 4,279 ล้านบาท ดำเนินการ โดย บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) NWR สัญญาที่ 3-3 งานโยธาสำหรับช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง มูลค่า 9,837 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท ไทยเอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม จำกัด สัญญาที่ 3-4 งานโยธาสำหรับช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวดมูลค่า 9,848 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD

สัญญาที่ 3-5 งานโยธาสำหรับช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา มูลค่า 7,750 ล้านบาท ดำเนินการโดย บริษัท กิจการร่วมค้าเอสพีทีเค จำกัด (ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทิมเซคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดีจำกัด และบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด และสัญญาที่ 4-7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี-แก่งคอย มูลค่า 8,560 ล้านบาท ดำเนินการโดย บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL อย่างไรก็ตามทั้ง 5 สัญญานั้นคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 66 พร้อมเปิดดำเนินการในปี 68 อย่างไรก็ตามยังเหลืออีก 7 สัญญาที่ต้องเร่งดำเนินการลงนามในสัญญาภายในปี 64

นายสุรณเดช ธูปะวิโรจน์ วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง กล่าวว่า งานก่อสร้างโยธารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่เหลืออีก 7 สัญญามูลค่าโครงการงานก่อสร้างโยธารวม 75,066 ล้านบาท นั้นประกอบด้วย สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย – กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 11,000 ล้านบาทอยู่ในขั้นตอนขออนุมัติคณะกรรมการรฟท. หลังจากคณะกรรมการอุทธรณ์และข้อเรียกร้องพิจารณาผลอุทธรณ์แล้วเสร็จ

ส่วนสัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง – นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 8,626 ล้านบาท, สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร – บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525 ล้านบาท, สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท, สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท และสัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว – สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9,429 ล้านบาทนั้นรอประเมินผลวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รอบที่ 3 และคาดว่าลงนามในสัญญาได้ในเดือน ม.ค. 64

ส่วนสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงิน 18,000 ล้านบาทรอความชัดเจนออกแบบโครงสร้างในการก่อสร้างที่จะต่อเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือน ก.พ. 64 หลังจากนั้นจะดำเนินการในขั้นตอนการประกวดราคาต่อไป