รฟท. ช่วยผู้ประกอบการ! ตรึงค่าธรรมเนียมน้ำมันไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร

ผู้ชมทั้งหมด 533 

รฟท. เผยตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร 3 เดือน (มิ.ย. – ส.ค.65) ส่งผลให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนน้ำมัน 2 ล้านบาทต่อเดือน พร้อมเล็งเพิ่มแคร่ขนสินค้า 965 คัน ลุยขนส่งสินค้า มั่นใจปีนี้โกยรายได้ 2,000 ล้าน วางเป้าบรรทุกสินค้า 12 ล้านตัน

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง ส่งผลให้ราคาน้ำขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง โดยราคาน้ำมันดีเซลคาดว่ากระทรวงพลังงานจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 35 บาทต่อลิตร ซึ่งจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงได้มอบหมายเป็นนโยบายให้ รฟท. ตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้เอกชนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นเวลา 3 เดือน (มิ.ย.-ส.ค.65)

ทั้งนี้จากการตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรนั้นส่งผลให้ รฟท. ต้องรับภาระค่าธรรมเนียมน้ำมัน เพราะ รฟท. ต้องจ่ายค่าน้ำมันตามราคาตลาด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อลิตร โดยทุกๆ 1 บาทที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ รฟท. มีค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 2 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ตามหลังจากเดือนสิงหาคม 2565 จะมีการขยายระยะเวลาตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันต่อหรือไม่นั้น ขอพิจารณาประมาณการค่าใช้จ่ายก่อน และปฏิบัติตามนโยบายกระทรวงคมนาคมเป็นหลัก ซึ่งหากรัฐมนตรีคมนาคมให้มีการขยายกรอบระยะเวลาการตรึงค่าธรรมเนียมน้ำมันออกไปอีกหลังจากสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2565 ก็คงต้องไปเจรจากับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อขอซื้อน้ำมันในราคาพิเศษ

อย่างไรก็ตามจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น รฟท. จึงได้เร่งทำการตลาดการขนส่งสินค้าทางราง เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการมาใช้บริการรถไฟเพิ่มขึ้นในการขนส่งสินค้า นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีลูกค้าหลายบริษัทติดต่อเข้ามายัง รฟท. อย่างต่อเนื่อง โดยสนใจเปลี่ยนโหมดมาใช้บริการขนส่งสินค้าจากทางรถบรรทุกมาเป็นทางรถไฟ เนื่องจากปัจจัยสนับสนุน เช่น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งทางถนนเพิ่ม การขนส่งทางรางจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ปัจจุบัน รฟท.มีลูกค้าทั้งรายย่อย และรายใหญ่รวมกันกว่า 60 ราย และอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้ารายใหญ่ประมาณ 10 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2565

ทั้งนี้เพื่อรองรับการขนส่งทางรางที่เพิ่มขึ้น รฟท. จึงมีแผนจัดหาโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า (แคร่) เพิ่ม 965 คัน มูลค่ารวมประมาณ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันการใช้แคร่ขนสินค้าค่อนข้างตึงตัว โดย รฟท. มีแคร่ขนสินค้าประมาณ 1,000 คัน ใช้ขนสินค้าแบบเหมาขบวน 40% และแบบรายย่อย 60% จึงมีความจำเป็นจะต้องเร่งจัดหาเพิ่ม ซึ่งปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างนำกลับมาวิเคราะห์ และเปรียบเทียบผลตอบแทนทางการเงินอีกครั้ง ระหว่างการเช่า การซื้อ และการจ้างเหมาบริการ คาดว่าจะเสนอกลับไปยังกระทรวงคมนาคมอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2565 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หากเห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ใช้เวลาประมาณ 1 ปี

ส่วนรายได้จากธุรกิจขนส่งสินค้านั้นในปี 2565 รฟท. ตั้งเป้ารายได้จากการบริการขนส่งสินค้าที่ 1,500-2,000 ล้านบาท ปริมาณขนส่งสินค้า 12 ล้านตัน เติบโตจากปี 2564 มีปริมาณขนส่งสินค้าอยู่ที่ 11.3 ล้านตัน ประมาณ 2% ส่วนปี 2566 ตั้งเป้าหมายมีปริมาณขนส่งสินค้าที่ 12.5 ล้านตัน อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-มี.ค.65) รฟท.ให้บริการขนส่งสินค้าไปแล้วประมาณ 8.7-8.8 ตัน ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าน่าจะเพิ่มมากขึ้นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้สัดส่วนรายได้ของ รฟท. ในขณะนี้แบ่งเป็น ผู้โดยสาร 70% และขนส่งสินค้า 30% ซึ่ง รฟท. จะพยายามผลักดันให้ทั้งสองส่วนเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กัน

“รายได้จากการขนส่งสินค้าของ รฟท. จะเติบโตขึ้น เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันที่แพงขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายบริษัทให้ความสนใจหันมาใช้บริการขนส่งสิค้าทางรถไฟมากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ แล้วเสร็จก็จะทำให้การเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งจะสามารถเชื่อมโยงได้กว้างขึ้น จึงเชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการบริษัทขนส่ง ทั้งรายย่อย รายใหญ่หันมาใช้บริการเพิ่มขึ้น แต่การรถไฟฯ ก็ต้องมีการจัดหาหัวรถจักรรุ่นใหม่ จัดหาแคร่ที่เพียงพอ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความคล่องตัวในการให้บริการด้วย” นายนิรุฒ กล่าว