รฟท.เผยทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คืบหน้า 3% คาดเปิดบริการปี 71

ผู้ชมทั้งหมด 5,561 

รฟท.เผยทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 8.5 หมื่นล้าน ประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือเชื่อมลาว-จีนใต้ ก้าวหน้ากว่า 3% เร่งเวนคืนที่ดินให้จบภายใน ก.พ. 67 คาดไม่ดีเลย์ เสร็จทั้ง โครงการพร้อมเปิดใช้งานปี 71 แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย. นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้นำคณะผู้บริหาร รฟท. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 85,345 ล้านบาท โดยได้ดูงานก่อสร้างบริเวณอุโมงค์แม่กา ซึ่งมีระยะทาง 2.7 กม. เป็น 1 ใน 4 อุโมงค์ของโครงการฯ ซึ่งอยู่ในสัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย

โดย นายนิรุฒ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีความคืบหน้าในภาพรวม 3.01% จากแผนสะสม 2.72% หรือเร็วกว่าแผน 0.28% ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเวนคืนที่ดิน มูลค่า 10,600 ล้านบาท พร้อมทั้งเจรจากับกรมธนารักษ์ และสำนักงานสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อขอใช้พื้นที ซึ่งรฟท.ได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินไปแล้วกว่า 80% จากทั้งหมด 7,500 แปลง และน่าจะครบ 100% ภายใน ก.พ. 2567 และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าว แบ่งการก่อสร้างงานโยธาเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103.70 กม. มูลค่างานก่อสร้าง 26,560 ล้านบาท ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสม 1.92% จากแผนงานสะสม 1.47% หรือเร็วกว่าแผนงาน 0.45%, สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132.30 กม. มูลค่างานก่อสร้าง 26,890 ล้านบาท ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสม 4.39% จากแผนงานสะสม 3.64% หรือเร็วกว่าแผนงาน 0.74% และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทางโครงการ 87.10 กม. มูลค่างานก่อสร้าง 9,385 ล้านบาท ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสม 2.60% จากแผนงานสะสม 3.16% หรือช้ากว่าแผนงาน 0.56%

นายนิรุฒ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีเส้นทางผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย ซึ่งอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จำนวน 3 จังหวัด (ยกเว้น จ.ลำปาง) 17 อำเภอ 59 ตำบล มีสถานีและที่หยุดรถไฟรวม 26 แห่ง มีย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) จำนวน 4 แห่ง ที่สถานีแพร่ สถานีพะเยา สถานีป่าแดด และสถานีเชียงราย และมีลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์เชื่อมต่อกับศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อีก 1 แห่ง

โครงการฯ นี้ถือเป็นเส้นทางสำคัญที่ประชาชนในพื้นที่รอคอยมากว่า 60 ปี เมื่อแล้วเสร็จ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1-1.30 ชั่วโมง (ชม.) เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางตัดผ่าน ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

รวมถึงยังเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน และเปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือเชื่อมประเทศลาว และประเทศจีนตอนใต้ เพิ่มช่องทางในการส่งออกสินค้าจากไทยและสร้างโอกาสที่ดีต่อการค้าการลงทุนของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังเป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพสวยงามของธรรมชาติตลอดทาง โดยรถไฟจะแล่นผ่านเทือกเขา สะพาน สลับกับลอดอุโมงค์ สามารถสร้างความประทับใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวเดิม และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ด้วย

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการก่อสร้างอุโมงค์แม่กานั้นมีระยะเวลาสัญญา 45 เดือน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 8 เดือน คืบหน้า 17.8% หรือแล้วเสร็จ 964 เมตร โดยอุโมงค์มีความกว้างขนาด 7.4 เมตร และความสูง 7.341 เมตร ภายในอุโมงค์เสริมความแข็งแรงและเสริมเสถียรภาพของผนังหินหรือดินด้วยการติดตั้งค้ำยัน ซึ่งอุโมงค์แห่งนี้มีความพิเศษ 2 เรื่อง คือ 1.เป็นอุโมงค์ที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ คาบเกี่ยว 2 จังหวัด คือ ลำปาง และพะเยา และ 2.สภาพทางธรณีวิทยา ที่มีลักษณะแตกต่างกัน คือ ด้านใต้ พื้นที่ จ.ลำปาง มีลักษณะเป็นหินแข็ง ต้องใช้วิธีขุดเจาะโดยการระเบิดหิน ส่วนด้านเหนือ พื้นที่ จ.พะเยา มีลักษณะเป็นดิน ต้องใช้วิธีขุดเจาะโดยการใช้เทคโนโลยีหัวขุด Drum Cutter ซึ่งจึงจำเป็นต้องใช้เวลาค่อนข้างนานพอสมควรในขั้นตอนและวิธีการทำงาน ดังนั้น รฟท. จึงได้ปรับแผนการทำงาน โดยจะทำการหล่อผนังอุโมงค์ไปด้วย ไม่ต้องรอจนการขุดอุโมงค์เสร็จๆ เพื่อไม่ให้งานเกิดความล่าช้า และเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

สำหรับอุโมงค์แม่กา มีการออกแบบด้านความปลอดภัย เพื่อรองรับเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น กรณีเกิดแผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม ซึ่งจะมีจุดอพยพตลอดเส้นทางรวม 11 จุด ระยะห่างแต่ละจุดประมาณ 240 เมตร เมื่อมีเหตุฉุกเฉินภายในอุโมงค์จะมีรถไฟวิ่งคู่ขนานกับอุโมงค์ด้านข้างไปยังจุดอพยพที่ได้ก่อสร้างเชื่อมต่อกันไว้แล้ว ก่อนจะรับ-ส่งไปยังจุดรวมพลที่จัดเตรียมไว้ต่อไป