รฟท.เร่งเจราจรเอกชนแก้สัญญาจบปัญหาโครงสร้างร่วมไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน

ผู้ชมทั้งหมด 208 

รฟท.เร่งเจราจรเอกชนแก้สัญญาจบปัญหาโครงสร้างร่วมไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน คาดสรุปได้กลางมี.ค.67 ระบุยังไม่เห็นสัญญาณว่าโครงการนี้จะไม่เกิดขึ้น ยืนยันจะทำให้ดีที่สุด

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 224,544 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ยังมีประเด็นเรื่องโครงสร้างทับซ้อนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่อยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขสัญญากับเอกชนคู่สัญญา คือบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่มซีพี) ซึ่งรฟท.จะทำให้ดีที่สุด คือการให้เอกชนคู่สัญญา เป็นผู้ก่อสร้างให้ทั้งหมด เพราะหากจะให้ รฟท. ดำเนินการก่อสร้างเองก็ต้องประกวดราคาหาผู้รับจ้างใหม่ทำให้เสียเวลามาก

โดยเบื้องต้นจากการหารือในคณะกรรมการร่วม ประกอบด้วย รฟท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เอกชนคู่สัญญา และที่ปรึกษาทางการเงิน การคลัง และกฎหมาย นั้นทางเอกชนคู่สัญญาได้เสนอที่จะก่อสร้างและออกค่าก่อสร้างประมาณ 9,000 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นข้อเสนอ 3-4 ข้อ เกี่ยวกับโครงสร้างทางการเงิน และบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) ให้ รฟท.พิจารณา คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในกลางเดือนมี.ค.67

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า รฟท.อยากให้โครงการฯเดินหน้าต่อไปได้ โดยที่ผ่านรัฐไม่เสียประโยชน์อะไร หรือเสียเปรียบใดๆ และอาจจะได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย รวมถึงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และประชาชนก็ได้ประโยชน์จากโครงการ ซึ่งเชื่อว่าหากโครงการฯนี้ไม่เกิดจะมีผลกระทบต่อความมั่นใจต่อการลงทุนโครงการในอีอีซีอย่างแน่นอน ทั้งนี้ในประเด็นข้อกังวลว่าโครงการฯนี้จะไม่เกิดขึ้นนั้น เวลานี้ยังไม่เห็นสัญญาณอะไรอย่างเป็นทางการว่าโครงการจะไม่เกิด และยังไม่เคยได้ยินเรื่องนี้จากเอกชน ดังนั้น  รฟท.จะทำให้ดีที่สุด

นอกจากนี้ในเรื่องการเพิกถอนลำรางสาธารณะ ในส่วนของพื้นที่โดยรอบสถานี (TOD) บนพื้นที่มักกะสันขนาด150 ไร่นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา สามารถเจรจาได้