รฟท.โชว์ทดสอบหัวรถจักร EV ตั้งเป้าภายในปี 66 จัดหาให้ครบ 50 คัน  

ผู้ชมทั้งหมด 675 

รฟท.โชว์ทดสอบหัวรถจักร EV  ต้นแบบคันแรกในไทย ปฏิวัติอุตสาหกรรมราง มั่นใจมลภาวะด้านเสียงฝุ่นไม่เกินค่ามาตรฐาน ตั้งเป้าภายในปี66 จัดหาให้ครบ 50 คัน ช่วยลดต้นทุนได้ถึง 60%

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้งานยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ร้อยละ 20 – 25 ภายในปี พ.ศ. 2573 และมุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ รวมถึงผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริม เพื่อให้สอดรับการกับเปลี่ยนแปลงทั้งทางการแข่งขันทางการค้า การรักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ ปริมาณฝุ่น PM 2.5 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้สนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมอบหมายให้ รฟท. ดำเนินการศึกษาการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ กรณีรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า(EV on Train) โดยการประกอบหัวรถจักรที่ติดตั้งระบบแบตเตอรี่และสามารถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าได้เอง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธ์ จำกัด (มหาชน) ตามนโยบาย Thai First จนเกิดเป็นหัวรถจักร EV ต้นแบบคันแรกของประเทศไทย และนำมาทดสอบการใช้งานในการลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แล้ว 

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากการทดสอบพบว่า การขับเคลื่อนได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นถึงการแปรนโยบายไปสู่ปฏิบัติได้จริง ถือเป็นการปฏิบัติอุตสาหกรรมทางรางอย่างแท้จริง โดยหัวรถจักร EV จำกัดความเร็วสูงสุดที่ 120 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) ซึ่งในการใช้ลากตู้ขนสินค้าจะใช้ความเร็วสูงสุดที่ 70 กม.ต่อ ชม. น้ำหนักประมาณ 2,500 ตัน หรือประมาณ 36 ตู้ ส่วนการใช้ลากตู้ขนผู้โดยสาร จะใช้ความเร็วสูงสุดที่ 100 กม.ต่อ ชม. น้ำหนักประมาณ 650 ตัน  ขณะที่การทดสอบมลภาวะพบว่า มลภาวะค่าเสียงอยู่ที่ 75-76 เดซิเบล จากค่ามาตรฐานที่กำหนดต้องไม่เกิน 80 เดซิเบล ส่วนมลภาวะด้านคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองอยู่ที่ประมาณ 11 ไมครอน ซึ่งไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. สามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 300 กมอีกทั้งยังมีข้อมูลว่าสามารถช่วยลดต้นทุนได้มากถึง40-60% จากที่เคยใช้พลังงานทั่วไป ทั้งนี้ได้มอบให้รฟท.ไปดำเนินการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับหัวรถจักรEVไว้แล้วด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากนี้ไปจะทดสอบหัวรถจักร EV ต้นแบบ 1 คันให้เกิดมั่นใจ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยก่อนจะนำไปใช้ลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นที่สถานีกลางฯ ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2566 รฟท.จะต้องดำเนินการประกอบหัวรถจักรได้ทั้งหมดจำนวน 50 คัน เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ในส่วนของความพร้อมการเริ่มเปิดให้บริการรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ ที่สถานีกลางฯตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566 นั้น รฟท. พร้อมที่จะให้บริการแล้ว และได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร อาทิ การจัดรถชัตเติ้ลบัส รับส่งผู้โดยสารแต่ละสถานี การขนถ่ายสัมภาระจากสถานีกลางฯ ไปยังปลายทาง เป็นต้น อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้ รฟท. ไปรวบรวมข้อมูลจำนวนผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วโดยสารในแต่ละขบวน เพื่อที่จะจัดเตรียมการให้บริการรองรับอย่างเพียงพอต่อไป