รฟม. เตรียมขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง

ผู้ชมทั้งหมด 564 

รฟม.-ตำรวจนครบาล ร่วมมือเตรียมพร้อมขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ เริ่มทดลองใช้มาตรการปรับทิศทางการสัญจรบนถนนประชาธิปก และสะพานพระพุทธยอดฟ้า 25 มี.ค –30 พ.ค.67

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วย นายกิตติ เอกวัลลภ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ร่วมแถลงข่าวมาตรการปรับทิศทางการสัญจร ช่วงเวลาเร่งด่วน บนถนนประชาธิปก และสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อเตรียมงานขุดเจาะอุโมงค์ สถานีสะพานพุทธฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ โดยมีพ.ต.ท. กันตพัฒน์ อื้อศรีวงศ์ รอง ผกก.จร. สน.บุปผาราม ผู้บริหาร รฟม.และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

พล.ต.ต.ธวัช กล่าวว่า บช.น. และสถานีตำรวจในพื้นที่ ได้ประชุมหารือกับ รฟม. และผู้รับจ้างฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ได้เกี่ยวกับมาตรการปรับแผนการจัดจราจร และ การปิดเบี่ยงจราจร เพื่อบริหารและจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยระบายการจราจรฝั่งขาออก จากฝั่งพระนคร มุ่งหน้าฝั่งธนบุรี ซึ่งมักจะมีปริมาณรถมาก ซึ่งระหว่างการดำเนินงานปิดเบี่ยง จะมีการจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร พร้อมด้วยอาสาจราจรของผู้รับจ้างฯ เพื่อร่วมกันอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทาง รวมถึงจะร่วมกันเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน ทั้งนี้ การพิจารณาทางเลือกในการขยายระยะเวลาใช้มาตรการปรับทิศทางการสัญจรฯ ดังกล่าว หรือทางเลือกอื่นๆ ตำรวจจราจรจะพิจารณาโดยมุ่งลดผลกระทบต่อประชาชนผู้สัญจรทางถนนเป็นสำคัญ

สำหรับมาตรการปรับทิศทางการสัญจร จะเริ่มทดลองใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2567 – วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 บนถนนประชาธิปก และสะพานพระพุทธยอดฟ้า เฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ ระหว่างเวลา 16.00 – 19.00 น. โดยปิดช่องทางจราจรบนถนนประชาธิปก ฝั่งขาเข้า  จากสี่แยกบ้านแขก ขึ้นสู่สะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อปรับทิศทางการสัญจรจากขาเข้าเป็นขาออก เพื่อให้รถที่มาจากบนสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งขาออก ใช้เป็นช่องทางเฉพาะกิจลงสู่ถนนประชาธิปก ทดแทนการใช้ช่องทางจราจรร่วมกับรถที่มาจากสะพานพระปกเกล้า ฝั่งขาออก เพื่อเป็นการเพิ่มช่องจราจรฝั่งขาออกทั้งหมด จาก 2 ช่องจราจร เป็น 3 ช่องจราจร ช่วยระบายความหนาแน่นในช่วงเวลาเร่งด่วน สำหรับผู้ใช้เส้นทางในฝั่งขาเข้า ในช่วงเวลาเร่งด่วน ให้ใช้สะพานพระปกเกล้าทดแทน ทั้งนี้ ท่านสามารถสอบถามรายละเอียดการปิดเบี่ยงจราจรได้ที่ โทร. 08 0072 6522

นายกิตติ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธา ในภาพรวมทั้ง 6 สัญญา ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567  ร้อยละ 28.62 จากแผนงาน 19.72 คิดเป็นการดำเนินงานเร็วกว่าแผน ร้อยละ 8.90ขณะที่สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ อยู่ระหว่างเตรียมงานขุดเจาะอุโมงค์ บริเวณสถานีสะพานพุทธฯ ซึ่งงนับเป็นอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 โดยจะใช้ระยะเวลารวมประมาณ 18 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2569

โดยตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาได้เริ่มปิดเบี่ยงจราจรบริเวณทางลงสะพานพระปกเกล้าถึงอนุสรณ์สถานงานสมโภช 100 ปี (วงเวียนเล็ก) 1 ช่องจราจร ตลอด 24 ชั่วโมง มีผลให้ผู้สัญจรผ่านถนนประชาธิปก ฝั่งขาออก สามารถสัญจรได้เพียง 2 ช่องจราจร แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างมีสภาพการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่น และมีชุมชน โรงเรียนโดยรอบ รฟม. และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากตำรวจนครบาลและสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อหามาตรการร่วมกันในการลดผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทางตลอดระยะเวลาการดำเนินงานขุดเจาะอุโมงค์บริเวณดังกล่าว และได้มีข้อสรุปร่วมกันที่จะทดลองใช้มาตรการปรับทิศทางการสัญจรของสะพานพระพุทธยอดฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวจากนั้นทางตำรวจจราจรในพื้นที่จะติดตามประเมินประสิทธิภาพในการระบายรถ เพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้มาตรการปรับทิศทางการสัญจรฯ ออกไปจนครอบคลุมระยะเวลาการดำเนินงานขุดเจาะอุโมงค์ทั้งหมด หรือพิจารณาปรับเปลี่ยนไปใช้มาตรการอื่นๆ ที่จะสามารถลดผลกระทบแก่ประชาชนผู้สัญจรทางถนนได้ดีที่สุด

นายกิตติ กล่าวอีกว่า รฟม. ตระหนักถึงผลกระทบด้านการจราจรในบริเวณดังกล่าว จึงได้เร่งรัดให้ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา ดำเนินการคืนผิวจราจรบนถนนประชาธิปก ฝั่งขาเข้า จำนวน 3 ช่องทาง บริเวณคลองสมเด็จเจ้าพระยา ภายหลังเสร็จสิ้นงานปรับปรุงโครงสร้างสะพานข้ามคลองสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อรองรับงานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้า ประมาณต้นเดือนเมษายน 2567 เพื่อเพิ่มช่องทางการสัญจรและบรรเทาปัญหาการจราจรให้แก่ประชาชนที่สัญจรในบริเวณดังกล่าว

ทั้งนี้ รฟม. ควบคุมดูแลการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตามมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้าง และตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้มีการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้ในการก่อสร้าง โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกสะสม 104,463.12 ตัน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 571,795 ต้น ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ถือเป็นโครงการนำร่อง ก่อนจะขยายสู่โครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ภายใต้การกำกับดูแลของ รฟม. ต่อไป 

สำหรับท่านที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.mrta–purplelinesouth.com เฟซบุ๊กโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ และ Line @mrtpurpleline หรือติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติม ได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0 2716 4044  567