รฟม.เปิดรับฟังความคิดเห็นลงทุนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

ผู้ชมทั้งหมด 667 

รฟม. เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เริ่ม 11 ต.ค. – 17 ต.ค. 64

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีความประสงค์จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย บริษัทที่ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สถาบันการเงิน ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายระบบรถไฟฟ้า (Heavy Rail) รวมถึงนักลงทุนภาคเอกชน และภาคเอกชนทั่วไป

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ประกอบด้วย ข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน และแบบแสดงความคิดเห็นของภาคเอกชน ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ที่ www.mrta.co.th ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 ถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2564 โดยกรอกข้อคิดเห็นของท่านตามแบบแสดงความเห็น และจัดส่งให้ รฟม. ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2564 ผ่านทางช่องทางดังต่อไปนี้

1)ไปรษณีย์โดยให้จ่าหน้าถึงผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ส่งมาที่ : เลขที่ 175 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 วงเล็บมุมซอง (PUS Hearing) E-mail: saraban@mrta.co.th 2)ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์: pushearing@mrta.co.th 3)โทรสาร: 0 2716 4022

ทั้งนี้รฟม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนต่อทางเลือกในการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในรูปแบบต่างๆ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)  และนำผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ต่อไป

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างนนทบุรี กับกรุงเทพมหานครฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมถึงสมุทรปราการ เข้าด้วยกัน มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี โดยมีแผนจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างในปี 2565 และเปิดให้บริการในปี 2570