“รัฐ-เอกชน” ผนึกกำลังหนุนใช้ “พลังงานสะอาด” เสริมขีดแข่งขันส่งออก

ผู้ชมทั้งหมด 844 

ส.อ.ท. จับมือ กฟภ. นำร่องจัดทำฐานข้อมูลการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และ Carbon Credit ผ่าน แพลตฟอร์มของสภาอุตสาหกรรมฯ รับเทรนด์โลกใหม่ “พลังงานสะอาด” ลดต้นทุนเพิ่มขีดแข่งขันส่งออก รับกติกาโลกใหม่ (NTB)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้(14 มี.ค.2565) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ประกาศโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) และ Carbon Credit เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและการรับรองการผลิตไฟฟ้า RE และ Carbon Credit โดยเชื่อมต่อกับ Platform ของ ส.อ.ท. เพื่อให้สามารถใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้ RE ตลอดจนขยายผลการศึกษาและการพัฒนาไปสู่โครงการอื่นๆ ต่อไป เช่น โครงการ ERC  Sandbox ระยะที่ 2 ในการตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาของการค้าการส่งออกของประเทศไทยเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ต้นทุนค่าไฟฟ้าของระบบพลังงานหมุนเวียนที่ลดลง จะส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีความต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ยังถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ เช่น การเกิดขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต และการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่

ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนควรที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สอดคล้องกับกติกาโลกใหม่ และบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนพลังงานทดแทน ให้มีสัดส่วน 30% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศภายในปี 2030 รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065

สำหรับ ความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการลงนาม “บันทึกข้อตกลงโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิต” เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและการรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิตโดยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของสภาอุตสาหกรรมฯ ผ่านโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 โดยการริเริ่มและสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้สามารถใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือในโครงการนำร่องฯ ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในครั้งนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามที่ได้กล่าวมา

นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านพลังงานมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วการศึกษาพัฒนาโครงการนําร่องด้านพลังงานหมุนเวียน โดยการจัดทําฐานข้อมูล การรับรอง การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และ Carbon Credit โดยการนําระบบแพลตฟอร์มมาบูรณาการ เพื่อใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการขยายผลการศึกษาไปสู่โครงการอื่น ๆ จะช่วยให้ภาพรวมของประเทศไทย มีศักยภาพ ด้านการผลิต และการให้บริการด้านพลังงานสูงขึ้น

“การร่วมมือระหว่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมเอกชนของประเทศไทยที่มีบทบาททางด้านการส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอุตสาหกรรมชั้นนำของผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของทั้ง 2 หน่วยงานในการร่วมกันแสวงหาแนวทางในการศึกษาและสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต”

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และประธานคณะทำงานส่งเสริมและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม ได้จัดทำสรุปรายงานเรื่องนี้ว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการไทยทั้งภาคการผลิตและภาคการค้าที่กำลังจะประสบปัญหากลไกด้านสิ่งแวดล้อมแบบ Non-Tariff Barrier ที่ส่งผลให้ความต้องการ การใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก เกิดธุรกิจพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลาย และยังมีความท้าทายที่ต้องการการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในครั้งนี้ผ่านโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ริเริ่มสนับสนุนและผ่อนคลายกฎระเบียบให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถซื้อขายไฟฟ้าข้ามสายส่ง และเปิดการอนุญาตทดลองกติการูปแบบใหม่ ๆ เพื่อทดลองแนวทางที่เหมาะสมที่สามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับธุรกิจต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของสากล โดยโอกาสในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคสังคมคาร์บอนต่ำ

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า โครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการทดสอบทางเทคโนโลยีด้านพลังงานในสภาพแวดล้อมของการใช้งานจริงในพื้นที่และขนาดที่จำกัด อีกทั้งเพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ทั้งในรูปแบบเปิดกว้างและแบบมุ่งเป้าในด้าน Green Innovation และ Green Regulation ทั้งนี้ จะทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจการให้บริการทางด้านพลังงานรูปแบบใหม่ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงบริการด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้นในราคาที่เหมาะสม

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กล่าวถึงนโยบายของ สอวช. และการสนับสนุนการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโดยแบ่งเป็น 6 หลักสูตรคือ 1) Design Principle: Passive & Active Design, 2) Energy Efficiency, 3) Renewable Energy, 4) 3R + 1W + 1C, 5) Carbon Credit Certificate, 6) Carbon Credit/RE Platform ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2565

สำหรับพิธีลงนามฯในครั้งนี้ จัดขึ้น ณ ห้อง PTT GROUP (1012) ชั้น 10 สภาอุตสาหกรรมฯ ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดโดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และประธานคณะทำงานส่งเสริมและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์  ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมประกาศความร่วมมือขับเคลื่อน