ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัวระดับสูง เหตุกังวลอุปทานตึงตัว

ผู้ชมทั้งหมด 10,356 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มทรงตัว จากความกังวลอุปทานตึงตัว คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 86-93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 89-96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 25 – 29 ก.ย. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวจากการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ขณะที่อุปสงค์ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ล่าสุดปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบปี อย่างไรก็ตาม ตลาดมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง  รวมทั้ง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่คาดว่าจะแข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ซึ่งคาดจะส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมัน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

▪ สถาบันการเงินหลายแห่งและบริษัทพลังงาน คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อ บาร์เรลในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากความกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร นำโดย ซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี โดยGoldman Sachs มีการปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าขึ้นจากเดิมที่ 93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลขึ้นเป็น 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ซึ่งสอดคล้องกับ Citibank และ Chevron ที่มีมุมมองคล้ายกัน

▪ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ปริมาณการนำเข้าคาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานพลังงานสากลสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 2.1 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่งโอกลาโฮมา ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ ก.ค. 65

▪ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบและสินทรัพย์เสี่ยง หลังในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. 66 ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25 – 5.50% พร้อมทั้งมีการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครึ่งในปีนี้และจะมีการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเพื่อชะลอผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงโดยอัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 3.2% มาอยู่ที่ 3.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ราว 4.3%

▪ เศรษฐกิจจีนในเดือน ส.ค. 66 เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมาและคาดการณ์ว่าจะช่วยสนับสนุนความต้องการใช้น้ำมันของจีน หลังรัฐบาลมีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคารกลาง โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น 4.5% จากปีก่อนหน้า สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ปรับขึ้น3.7% ขณะที่ยอดค้าปลีกปรับเพิ่มขึ้น 4.6% สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ปรับขึ้น 2.5%

▪ จับตาสถานการณ์คว่ำบาตรของสหรัฐฯ กับอิหร่านและเวเนซุเอลา ล่าสุดสหรัฐฯ และอิหร่าน ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้น โดยอิหร่านได้ปล่อยตัวนักโทษสหรัฐฯ แลกกับการเข้าถึงเงินทุน 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีและอาจนำไปสู่การเจรจาเพื่อยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด  สำหรับเวเนซุเอลา สหรัฐฯ เปิดเผยว่าพร้อมที่จะมีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรหากสามารถจัดการเลือกตั้งประธานาธิปดีในปีหน้าอย่างโปร่งใส

▪ เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 66 ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 66 GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 2 ปี 2566

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 86-93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 89-96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 18 – 22 .. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 90.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 0.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 93.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 94.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในปีนี้และมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเพื่อชะลอผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 15 ก.ย. 66 ที่ปรับตัวลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 418.5 ล้านบาร์เรล