ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัวระดับสูง เหตุ “ซาอุฯ-รัสเซีย” ปรับลดการผลิตและส่งออก

ผู้ชมทั้งหมด 245 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัวในระดับสูง หลังซาอุฯ และรัสเซียปรับลดการผลิตและส่งออก คาดเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวที่กรอบ 68-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 3 – 7 ก.ค. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวจากการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุฯ ไปอีก 1 เดือน และรัสเซียปรับลดการส่งออกเพิ่มเติมในเดือน ส.ค. 66 ซึ่งเพิ่มเติมจากข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจก่อนหน้านี้ โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้อุปทานค่อนข้างตึงตัวมากขึ้น

รวมถึง ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลงจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ ที่ภาคอุตสาหกรรมเติบโตลดลง ขณะที่ภาคบริการเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • อุปทานการผลิตและการส่งออกน้ำมันของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากซาอุดิอาระเบียขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตที่ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไปอีก 1 เดือน (สิ้นสุดเดือน ส.ค. 66 แทน) ขณะที่รัสเซียประกาศลดการส่งออกลงในเดือน ส.ค. 66 ซึ่งการปรับลดกำลังการผลิตและการส่งออกของทั้ง 2 ประเทศหลักจะทำให้อุปทานมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการขับขี่ของสหรัฐฯ ยังคงเติบโตขึ้นในช่วงวันชาติอเมริกา ประกอบกับ การส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.0 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลง 0.4 ล้านบาร์เรล
  • จับตาอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และยูโรโซน ซึ่งจะประกาศในสัปดาห์นี้ จะส่งผลกระทบต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรป ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้ธนาคารกลางทั้งสองมีแนวโน้มที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปเพิ่มเติมและจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบ
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ คาดจะทรงตัวในระดับสูง โดยล่าสุดผู้ผลิตเริ่มกลับมาเพิ่มการขุดเจาะขึ้นอีกครั้ง โดย Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ สำหรับสิ้นสุด ณ วันที่ 7 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 6 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 680 ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 สัปดาห์
  • เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวลง โดยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนในเดือน มิ.ย. 66 ยังคงชะลอตัวลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.0 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนยังคงต่ำกว่าระดับ 50.0 และดัชนีภาคบริการปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 53.2 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่ 54.5
  • รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมเข้าซื้อน้ำมันดิบเข้าคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) เพิ่มเติมสำหรับการส่งมอบน้ำมันดิบในเดือน ต.ค. – พ.ย. 66 ที่ราว 6 ล้านบาร์เรล โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเข้าซื้อรวมทั้งสิ้นกว่า 6.3 ล้านบาร์เรลแล้ว โดยในปีนี้คาดรัฐบาลสหรัฐฯ จะเข้าซื้อรวมทั้งสิ้นราว 12.3 ล้านบาร์เรล
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตจีน เดือน มิ.ย. 66 ดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 66 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน เดือน พ.ค. 66

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 68-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 3 – 7 ก.ค. 66 พบว่า  ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 77.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากซาอุดิอาระเบียประกาศขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นสุดเดือน ส.ค. 66 แทน ขณะที่ รัสเซียประกาศลดการส่งออกลง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. 66

นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงสนับจากการปรับลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.0 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ในเดือน มิ.ย. 66 ของสหรัฐ และจีน ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.0 และ 49.0 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้า