ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ ผันผวนระดับสูง เหตุขัดแย้งตะวันออกกลางยังตึงเครียด

ผู้ชมทั้งหมด 448 

ไทยออยล์ ชี้ ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง หลังเหตุขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางตึงเครียดต่อเนื่อง คาดเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 79-89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 8 – 22 มี.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่องจากการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาสยังคงไม่บรรลุเป้าหมาย ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครนมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ได้คาดการณ์ผลผลิตน้ำมันสหรัฐฯ ปรับเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับการเติบโตเศรษฐกิจของจีนที่อาจจะไม่โตตามเป้าหมายที่คาดไว้ นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนถึงเดือน มิ.ย. 67

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

▪ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงน่ากังวล ภายหลังการเจรจาหยุดยิงชั่วคราวระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากอิสราเอลยังคงยืนยันที่จะไม่เข้าร่วมในการเจรจา ท่ามกลางเทศกาลรอมฎอนซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.

▪ สงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครนมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น หลังล่าสุดยูเครนได้โจมตีโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทรอสเนฟต์ (Rosneft) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงมอสโก ด้วยโดรนเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งทำให้ตลาดกังวลว่าสถานการณ์ในภูมิภาคนี้ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันในตลาดโลก นอกจากนี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียพร้อมทำสงครามนิวเคลียร์ หากสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเริ่ม และส่งกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่ของยูเครน

▪ อย่างไรก็ตาม สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ได้คาดการณ์ผลผลิตน้ำมันสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น 260,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 13.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าอาจปรับเพิ่มขึ้นเพียง 170,000 บาร์เรลต่อวัน

▪ ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันดิบของจีน แม้ว่าจีนได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปี 67 ที่ประมาณ 5% แต่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นการตั้งเป้าหมายที่เกินจริง หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกจากนี้ แม้ว่าการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกของปีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66

▪ ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะไม่เร่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปจนถึงเดือน มิ.ย. 67 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างไรก็ดี การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. 67 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง

▪ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐฯ และตัวเลขเศรษฐกิจของยุโรป เดือน ก.พ. 67 ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ และดัชนีราคาผู้บริโภค รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจของจีน เดือน ก.พ. 67 ได้แก่ ยอดขายปลีก และอัตราการว่างงาน

ทั้งนี้ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 79-89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 11 – 15 มี.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 81.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 85.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 84.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.8% YoY และ 0.4% MoM โดยตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และอาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ยังคงมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงเดือน มิ.ย. 67 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของจีนส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย ภายหลังสำนักสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.พ. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 0.7% สูงกว่าเดือนกว่าหน้าที่หดตัวลง 0.8% และถือเป็นขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 8 มี.ค. 67 ปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 447 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล