ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

ผู้ชมทั้งหมด 918 

ไทยออยล์ ชี้ ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ปรับขึ้นต่อเนื่อง เหตุอุปทานตึงตัว ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศลิเบียและคาซัคสถานยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ โอมิครอนยังกดดันตลาด คาด เวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 80-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 83-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ (17 – 21 ม.ค. 65) พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังตลาดได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบโลกที่ยังคงตึงตัว จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายในประเทศลิเบียและคาซัคสถาน ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งค่าเงินดอลลาห์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง เพิ่มความน่าสนใจต่อการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบของนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • อุปทานน้ำมันดิบตลาดโลกยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองในคาซัคสถาน จากการประท้วงของผู้คนต่อรัฐบาลเกี่ยวกับราคาปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ล่าสุดรัฐบาลคาซัคสถานประกาศลาออก และประเทศได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในแคว้นมังเฆิสเตาและเมืองอัลมาตี เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือตั้งแต่วันที่ 5 – 19 ม.ค. 65 อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันโลก โดยปัจจุบันคาซัคสถานสามารถผลิตน้ำมันได้ในปริมาณ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในลิเบีย ที่ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองของคาซัคสถานและลิเบียได้คลี่คลายลงแล้ว และลิเบียสามาถกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้อีกครั้ง แต่ยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์ว่าจะกลับมาขัดแย้งอีกหรือไม่
  • สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกจะกลับมาสู่ระดับใกล้เคียงหรือมากกว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันในปี 2022 โดย EIAคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2023
  • ค่าเงินดอลลาห์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ หลังประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้การลงทุนในสัญญาถือครองน้ำมันดิบมีความน่าสนใจมากขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือครองเงินสกุลอื่น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงิน โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นในช่วงต้นเดือน มี.ค. 65
  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังคงแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก ล่าสุดจำนวนยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกมากกว่า 300 ล้านราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 5 ล้านราย รายงาน ณ วันที่ 12 ม.ค. 65 จากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยสหรัฐฯ และยุโรปพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด คิดเป็น 73% ของยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด ล่าสุดประเทศเยอรมนีพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 8 หมื่นรายในวันเดียว คาดการณ์ว่าหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลเยอรมนีอาจใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้ง
  • จับตาดูการประชุมเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (JPCOA) ในช่วงปลายเดือน ม.ค. 65 จากการเจรจาครั้งล่าสุดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านโดยเริ่มเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา มีความคืบหน้ามากขึ้นหลังผู้แทนเจรจาชุดใหม่ของอิหร่านพร้อมให้ความร่วมมือกับชาติมหาอำนาจในการหาข้อตกลงในประเด็นต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม อิหร่านต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด ขณะที่สหรัฐฯ และยุโรป ยังคงมีข้อสงสัยว่าอิหร่านอาจมีการละเมิดข้อตกลงการสะสมยูเรเนียมที่สูงกว่าที่ระบุไว้ในข้อตกลง และอาจนำไปสู่การผลิตอาวุธนิวเลียร์ได้ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน โดยเป็นสิ่งที่อิหร่านกังวลมากที่สุด
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. ของจีน อาจปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อัตราการว่างงานเดือน พ.ย. ของอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. ของสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 80-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 83-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ (10 – 14 ม.ค. 65) พบว่า  ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 4.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 83.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 4.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 86.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 83.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ม.ค. 65 ปรับตัวลดลงกว่า 4.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 413.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับตัวลดลงราว 1.9 ล้านบาร์เรล ขณะที่หลายประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) ยังคงประสบปัญหาในการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้