ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ถูกกดดัน จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ผู้ชมทั้งหมด 542 

ไทยออยล์ ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ถูกกดดัน ท่ามกลางความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 93-104 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 96-106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ค.65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดัน หลังจากสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มิ.ย. 65 เพิ่มขึ้นกว่า 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ( y-o-y) ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ตลาดกังวลว่า FED อาจเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าเดิม และอาจส่งผลให้โลกเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนที่ยังไม่ดีนัก และล่าสุดจีนกลับมาใช้มาตรการเข้มงวดตามนโยบายปลอดโควิดที่ใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศอีกครั้ง ส่งผลกดดันต่อการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดตัวเลขเดือน มิ.ย. 65 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 9.1%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ( y-o-y) ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ FED อาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายกว่า 100 bps หรือ 1.0% ในการประชุมครั้งถัดไปวันที่     26-27 ก.ค. 65 นี้ และทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่ 2.25-2.75% ส่งผลให้ตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยและอาจกดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
  • EIA เดือน ก.ค. 65 ปรับลดคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2022 ราว 0.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ( y-o-y) สู่ระดับเฉลี่ยที่ 99.57 ล้านบาร์เรล จากรายงานคาดการณ์เดือนก่อนหน้า เนื่องจากตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังจากที่ FED ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากถึง 75 bps นอกจากนี้ ธนาคารกลางในหลายประเทศใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลกดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
  • จีนอาจประกาศล๊อกดาวน์ครั้งใหม่เมืองเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากพบผู้มีความเสี่ยงสูงติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นจาก 7 รายเป็น 15 รายในช่วงวันที่ 4-10 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา โดยจีนยังคงใช้มาตรการเข้มงวดและล๊อกดาวน์บางสถานที่ในเมืองสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ปักกิ่ง และมาเก๊า ตามนโยบายปลอดโควิด-19 ที่ใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก
  • Rystad เดือน ก.ค. 65 คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียเดือน ก.ค. 65 มีแนวโน้มปรับลดลงมาอยู่ที่ 676,000 บาร์เรลต่อวัน จากการประท้วงเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องประกาศภาวะสุดวิสัย (Force Majeure) ในท่าเรือสำคัญได้แก่ Es Sider และ Ras Lanuf ขณะที่ท่าเรือ Zuetina และ Marsa el-Brega ยังอยู่ภายใต้ภาวะสุดวิสัยและไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ตั้งแต่เดือน เม.ย. 65 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว
  • รัสเซียประกาศระงับการดำเนินการชั่วคราวของท่อส่งน้ำมัน CPC ในคาซัคสถานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน เนื่องจากอ้างว่า เกิดจากปัญหาทางเทคนิค อย่างไรก็ตาม Tengizchevroil ผู้ดำเนินงานของแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ Tengiz ในคาซัดสถาน ประกาศว่าการส่งออกน้ำมันผ่านท่อดังกล่าวยังไม่ถูกระงับ
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยุโรปเดือน มิ.ย. 65 ตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 21 ก.ค. 65 คาดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเดือน ก.ค. 65

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 93-104 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 96-106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 11-15 ก.ค. 65 พบว่า  ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 6.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 97.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 5.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 101.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 98.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลัง FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 ขณะที่ EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.ค. 65 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 3.3 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียที่หยุดชะงักลง เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ