ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังผันผวน เหตุการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนยังไม่แน่นอน

ผู้ชมทั้งหมด 2,553 

ไทยออยล์ ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังผันผวน เหตุจีนเผชิญความไม่แน่นอนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คาด เวสต์เท็กซัสในเคลื่อนไหวที่กรอบ 67-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 71-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 22 – 26 พ.ค. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบคาดยังคงผันผวนเนื่องจากตลาดได้รับแรงกดดันจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังมีความไม่แน่นอน หลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ขณะที่ยังมีแรงกดดันจากเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ที่มีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากการผลิตของอิหร่านปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่มาตรการคว่ำบาตรครั้งล่าสุดในปี 2561 เช่นเดียวกับการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ซึ่งแตะระดับสูงสุดใหม่ในเดือน มิ.ย. 66 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีแรงสนับสนุนจากการเจรจาเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ การเตรียมซื้อน้ำมันดิบเพื่อเติมคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ของสหรัฐฯ และสถานการณ์ไฟป่าที่แคนนาดาที่อาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมัน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนอาจส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน โดยล่าสุดตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจีนในเดือน เม.ย. 66 ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ อาทิ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial production) ซึ่งเติบโตที่ระดับ 5.6% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 10.9 % เช่นเดียวกับดัชนียอดค้าปลีกที่เติบโตที่ระดับ 18.4 % ต่ำกว่าคาดที่ระดับ 21 % ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเดือน เม.ย. 66 ปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจนั้นยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันของจีน
  • สหภาพยุโรปเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยเติบโตเพียงเล็กน้อยที่ 0.1 % ในไตรมาส 1/66 หลังได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.75% และตลาดคาดการณ์ว่า ECB จะปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีกครั้งละ 0.25% ในการประชุมสองครั้งถัดไป ขณะที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ปรับตัวลง 4.1% ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 63 หลังภาคอุตสาหกรรมของยุโรปได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรห้ามนำเข้าพลังงานของรัสเซีย
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านเดือน เม.ย. 66 ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับแต่ช่วงก่อนการประกาศคว่ำบาตรอิหร่านครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 61 ที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม สต๊อกน้ำมันดิบคงคลังของอิหร่านยังคงอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 61 ที่ระดับ 85 ล้านบาร์เรล โดย FGE คาดกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นได้อีกเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงสิ้นปี 2566 อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หากจีนและเวเนซุเอลาตัดสินใจนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มเติม
  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานของสหรัฐฯ (Shale oil) มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดย EIA คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิต Shale oil ในสหรัฐฯ อาจปรับเพิ่มขึ้นราว 41,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ 9.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบปรับลดลง โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 พ.ค. ปรับลดลง 2 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 586 แท่น
  • ตลาดจับตาการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ หลังการพูดคุยครั้งล่าสุดระหว่าง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีทิศทางที่ดีขึ้นจากครั้งก่อนหน้า และมองว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อเพิ่มเพดานหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ไม่อนุมัติการขยายเพดานหนี้ จะส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะผิดชำระหนี้ในวันที่ 1 มิ.ย. และอาจเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เผยว่าสหรัฐฯ เตรียมซื้อน้ำมันดิบปริมาณ 3 ล้านบาร์เรล ซึ่งส่งมอบเดือน ส.ค. 66 เพื่อเติมคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ เคยวางแผนการซื้อน้ำมันดิบที่ระดับราคา 67 – 72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงก่อนหน้า ขณะที่สต็อกน้ำมันดิบในคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 พ.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 362 ล้านบาร์เรล
  • ตลาดยังคงจับตาผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟป่าในรัฐอัลเบอร์ตา ของแคนาดา ซึ่งส่งผลให้การผลิตน้ำมันในรัฐราว 319,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศ ต้องหยุดดำเนินการ โดยทางการคาดการควบคุมเพลิงอาจต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือน
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ได้แก่ ยอดค้าปลีกไตรมาส 1/66 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเดือน พ.ค. 66 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 66

ทั้งนี้ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 71-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 15 – 19 พ.ค. 66 พบว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากอุปทานมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นจากเหตุการณ์ไฟป่าในแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตน้ำมันราว 3 แสนบาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติม เนื่องจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้แสดงความมั่นใจว่าข้อตกลงเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้จะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันจากรายงานสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 12 พ.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.0 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 467.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล