“วรุณา” นำเทคโนโลยีดีพเทคปั้น“บางกระเจ้า” ต้นแบบฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมใน 5 ปี

ผู้ชมทั้งหมด 567 

“เออาร์วี” ส่งบริษัทลูก “วรุณา” นำเทคโนโลยีดีพเทค สร้างฐานข้อมูลเชิงลึกรักษาพื้นที่สีเขียว 6,000 ไร่ ปั้น “บางกระเจ้า” ต้นแบบฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วยเอไอ ภายใน 5 ปี

นางสาวพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารด้านธุรกิจ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี ล่าวว่า บริษัท ได้ประสานความร่วมมือกับพันธมิตรโดยใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) ในการวางแผนฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวที่คุ้งบางกระเจ้า ในโครงการ OUR Khung BangKachao พร้อมใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ติดตามผลการรักษาพื้นที่สีเขียว 6,000 ไร่ ภายใน 5 ปี ตั้งเป้าเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืนโดยประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (Social Collaboration with Collective Impact) เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

โดยปีนี้ วรุณา ได้เป็นหัวเรือใหญ่ในการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการวางแผนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ นำร่องในงานพัฒนาพื้นที่สีเขียว ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานคณะทำงานฯ โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอีกกว่า 30 องค์กร ผ่านแพลตฟอร์มวิเคราะห์ “วรุณา” (VARUNA Analytics) ในการเก็บข้อมูลในพื้นที่ด้วยโดรนสำรวจและดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์พื้นที่แบบ End to End ด้วย ระบบเอไอ (AI) ช่วยให้การวางแผนฟื้นฟูทำได้ตรงจุด และแม่นยำมากยิ่งขึ้น

การลงพื้นที่เพื่อสำรวจและติดตามผลการพัฒนาพื้นที่สีเขียว คือ ความท้าทายอย่างหนึ่งของการศึกษาสิ่งแวดล้อมในโครงการที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่แบบคุ้งบางกระเจ้า ซึ่งโดยทั่วไปจะต้องใช้ทั้งกำลังคนและเวลาเพื่อลงพื้นที่เดินสำรวจ แต่การนำเทคโนโลยีอย่างเอไอ (AI) เข้ามาใช้จะช่วยให้วางแผนการลงพื้นที่ได้อย่างตรงเป้าหมาย แม่นยำ ทำให้ลดเวลาการดำเนินงานส่วนนี้ได้อย่างมาก

สำหรับเทคโนโลยีของวรุณา เป็นการใช้ภาพถ่ายจากโดรนควบคู่กับภาพ Normalized Difference Vegetation Index (NDVI) จากดาวเทียม ตรวจวัดความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า รวมถึงวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ โดยดาวเทียมจะเก็บภาพทุกสัปดาห์ไว้เป็นฐานข้อมูล ที่สามารถดูย้อนหลังได้ถึง 5 ปี  ทำให้สามารถติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง และวางแผนลงพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง มีการใช้เทคนิค Machine Learning และ AI มาประมวลผล ซึ่งให้ผลทั้งด้านกว้าง คือ ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ และเชิงลึก คือ ได้ข้อมูลที่มีความละเอียดและแม่นยำสูง ในเวลาอันรวดเร็ว ช่วยเพิ่มศักยภาพในการติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ให้สำเร็จตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ วรุณายังมีจุดแข็งด้านทีมงาน ซึ่งประกอบด้วยวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิชาการเกษตรดิจิทัล (Digital Agronomist) ที่ทำงานร่วมกับรุกขกร นักวิชาการป่าไม้ โดยวรุณาช่วยพัฒนาและจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ และติดตามผลเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวของคุ้งบางกระเจ้า รวมถึงเตรียมวางแผนพัฒนาระบบให้เจ้าหน้าที่หน้างานสามารถเรียกดูข้อมูลที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างสะดวกผ่านทางอุปกรณ์มือถือ

อีกทั้ง วรุณาได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว เช่น การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ การจัดโซนนิ่งพื้นที่ ลักษณะพื้นที่สีเขียวและลักษณะดินและน้ำในพื้นที่ และภาพรวมเชิงสถิติ พร้อมกับใช้ AI สร้างโมเดลข้อมูลเพื่อช่วยสร้างระบบติดตาม ซึ่งในอนาคตจะวางแผนพัฒนาโมเดลการคำนวณการกักเก็บคาร์บอน เพื่อศึกษาผลเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่บางกระเจ้า

“คาดหวังว่าโครงการ OUR Khung BangKachao จะเป็นต้นแบบการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในการสร้างความยั่งยืนแบบสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งสามารถนำไปเป็นแนวทางพัฒนาพื้นที่อื่นได้ในอนาคต”

ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกระเจ้าในโครงการ OUR Khung BangKachao ดำเนินงานในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2562-2566) มีเป้าหมายหลักเพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวทั้งพื้นที่ราชพัสดุในความดูแลของกรมป่าไม้ และพื้นที่อื่นๆ ประมาณ 6,000 ไร่ (คิดเป็นประมาณ 50% ของพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า)

รวมถึงการสร้างอัตลักษณ์พื้นที่สีเขียวในพื้นที่ และส่งเสริมเกษตรปลอดภัย โดยมุ่งเน้นหัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและความต้องการของชุมชนเป็นหลัก การพัฒนาพื้นที่สีเขียวช่วยก่อให้เกิดรายได้และผลประโยชน์ชุมชนในหลายรูปแบบ เช่น สวนผลไม้ การแปรรูป และการท่องเที่ยว รวมถึงต้องการให้พื้นที่บางกระเจ้าช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน ลดฝุ่นละออง PM 2.5 มลพิษทางอากาศ ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน สร้างชุมชนเข้มแข็งที่สามารถช่วยรักษาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน