สกนช.ย้ำยืดเวลาลดชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซลและเอทานอลต้องดำเนินการคู่กัน

ผู้ชมทั้งหมด 606 

สกนช.เร่งเก็บข้อมูลเอทานอล เตรียมจัดทำสรุปประเมินสถานการณ์เชื้อเพลิงชีวภาพที่นำมาผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ เพื่อขยายเวลาลดการชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะต้องยกเลิกการอุดหนุนในปี 2565 ออกไปก่อน หลังจากประเมินผลกระทบทั้งจากการระบาดของโควิด สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก และการเตรียมความพร้อมของภาคเกษตรที่ปลูกพืชพลังงาน ย้ำไบโอดีเซล และเอทานอล ต้องดำเนินการควบคู่กัน 

ตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรา 55 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล ระบุให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องทยอยยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งตามกฎหมายจะต้องยกเลิกการชดเชยในเดือนกันยายน ปี 2565 แต่กฎหมายได้เปิดช่องไว้ว่า หากมีความจำเป็น หรือมีสถานการณ์ที่กระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนสามารถขยายระยะเวลาที่จะยกเลิกการชดเชยได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปีหรือสามารถเลื่อนแผนดังกล่าวไปได้ถึงปี 2569

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ประเทศต้องเผชิญทั้งปัญหาการระบาดของโรคโควิด และวิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และยังต้องคำนึงถึงการปรับตัวของภาคการเกษตรที่ปลูกพืชพลังงานที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพประกอบด้วย สกนช.จึงได้เร่งจัดเก็บข้อมูลเอทานอลเพื่อนำมาประกอบการจัดทำแผนลดการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในส่วนของไบโอดีเซลแล้ว และล่าสุดครั้งนี้ได้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในส่วนของเอทานอลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่นำมาผสมเป็นน้ำมันเบนซิน

​สำหรับ โรงงานผลิตเอทานอลในประเทศปี 2564 มีจำนวน 26 โรง โดยเป็นโรงงานผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล 11 โรงมันสำปะหลัง 10 โรง และไฮบริด 5 โรง รวมกำลังการผลิต 6 ล้านลิตรต่อวัน

โดย สกนช. จะเร่งสรุปข้อมูลที่ได้รับมาจากการลงพื้นที่สำรวจนำมาปรับใช้และเตรียมจัดทำแผนขอขยายการชดเชยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันต่อไป ซึ่งตามขั้นตอนจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

“ในแต่ละปี จะพบว่า ราคาพืชพลังงานจะผัวผวนในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และให้การดำเนินนโยบายอย่างมีเสถียรภาพ จึงต้องเสนอเลื่อนยกเลิกชดเชยน้ำมันชีวภาพที่ไบโอดีเซล และเอทานอล ออกไปอีก 2 ปีพร้อมกัน แม้ว่า เท่าที่ติดตามข้อมูลในเบื่องต้นเอทานอลจะมีความพร้อมมากกว่า”

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้ประเมินผลประโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพเอทานอลข้อมูลปี 2563 พบว่า ในด้านความมั่นคงพลังงาน ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐานมูลค่าประมาณ9,900 ล้านบาทต่อปี ด้านเศรษฐกิจ เกิดการกระจายรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังประมาณ 17,600 ล้านบาทต่อปี รายได้ส่วนเพิ่มจากการแปรรูปสินค้าเกษตร 12,300 ล้านบาทต่อปี โรงงานผลิตเอทานอล 34,250 ล้านบาทต่อปี ผู้ค้าน้ำมัน 6,200 ล้านบาทต่อปี ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.7 ล้านตันต่อปีในช่วงที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีบทบาทในการช่วยพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้จากอุตสหากรรมเชื้อเพลิงชีวภาพกระจายสู่ภูมิภาค สร้างความมั่นคงทางพลังงานจากการลดการนำเข้า เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสร้างตลาดในประเทศ เกิดการจ้างงานใหม่และเพิ่มความมั่นคงทางแรงงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เกิดโครงสร้างพื้นฐานต่อยอดไปสู่ Bio Economy และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สำหรับประมาณการสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำเดือน เมษายน 2565 มีรายจ่ายประมาณเดือนละ 22,242  ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายน้ำมันเดือนละ 20,779  ล้านบาท และรายจ่ายก๊าซ LPG เดือนละ 2,174 ล้านบาท

ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 26 เมษายน 2565 ติดลบ 56,278  ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302  ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 31,976  ล้านบาท