สกนช.หวั่นเหตุรัสเซียบุกยูเครน ฉุดสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ อุ้มดีเซลอ่วม

ผู้ชมทั้งหมด 460 

สกนช.เกาะติดสถานการณ์รัสเซียบุกยูเครน ดันราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ห่วงกระทบสถานะกองทุนน้ำมันฯอุ้มดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรอ่วม เตรียมแนวทางรองรับกรณีเลวร้าย หากจัดส่งน้ำมันระหว่างประเทศมีปัญหา เล็งรณรงค์ภาคประชาชนประหยัดการใช้ 

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า สกนช.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด หลังราคาซื้อขายระหว่างวันตลาดเบรนท์ขยับขึ้นไปแตะระกับ 101 ดอลลาร์​ต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 8 ปี จากกรณีกองทัพรัสเซียดำเนินการโจมตีทางอากาศกับกองกำลังทหารของยูเครน กลายเป็นปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และจะส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้น 

ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบอยู่เหนือระดับ 100 ดอลลาร์​ต่อบาร์เรล เป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบต่อสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เป็นกลไกสำคัญในการดูแลราคาดีเซล ​ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เพราะราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นทุก 1ดอลลาร์​ต่อบาร์เรล จะส่งผลให้ต้นทุนราคาขายปลีกในประเทศ เพิ่มขึ้น 20 สตางค์ต่อลิตร โดยราคาดีเซล วันนี้(24 ก.พ.65) อยู่ที่ประมาณ 28.54 บาทต่อลิตร หากราคาน้ำมันดิบ ขึ้นไปแตะ 100 ดอลลา​ร์ต่อบาร์เรล จะส่งผลให้ต้นทุนดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตรได้ 

“ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ ได้ลดการอุดหนุน​ดีเซลเหลือ 2.30 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาสภาพคล่อง ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบอยู่ราว90-92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะยังดูแลเสถียรภาพราคาพลังงานได้ถึงพ.ค.นี้ จากเงินกองทุนฯ มีเงินอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท และมีเงินไหลออกจากการดูแลราคาLPG และน้ำมัน ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่หากราคาทะลุ 100 ดอลลาร์ฯ ก็จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนฯ หรือ ระยะเวลาดูแลราคาพลังงานได้สั้นลง”

อย่างไรก็ตาม สกนช.จะมอนิเตอร์สถานการณ์ราคาน่ำมันดิบตลาดโลก พร้อมจัดทำแผนบริหารจัดการสภาพคล่องกองทุนฯให้สอดรับกับการดูแลเสถียรภาพราคาขายปลีกเพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน พิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจส่งผลยังภาคประชาชนต่อไป 

โดยหากเกิดกรณีเลวร้ายสุด คือ เหตุขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รุกลามจนกระทบการจัดส่งน้ำมัน ก็อาจมีมาตรการเรื่องการปันส่วนน้ำมันเข้ามาใช้รับมือสถานการณ์เมื่อที่เคยดำเนินการในอดีต แต่ในระยะสั้น หากราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 ดอลลาร์ฯ ทาง สกนช.ก็จะจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ให้ภาคประชาชนประหยัดการใช้น้ำมัน 

ส่วนความคืบหน้าการกู้เงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนฯน้ำมันขณะนี้ อยู่​ในขั้นตอนดำเนินการตามคำแนะนำด้านบัญชีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)​ คาดว่า เงินกู้จะเข้ามาเสริมสภาพคล่องได้ไม่เกินเดือน พ.ค.นี้ และเบื้องต้น มี 3 สถาบันการเงินที่แสดงความสนใจยื่นเสนอแผนจัดสรรเงินกู้ คือ กสิกร ออมสิน และกรุงไทย ซึ่งทาง สกนช.จะต้องรอพิจารณาการเสนออัตราดอกเบี้ยที่เป็นประโยชน์ต่อไป ก่อนตัดสินใจเสนอภาครัฐพิจารณาเลือกกู้เงินกับสถาบันการเงินต่อไป