สนพ.คาดปี66 ไทยนำเข้า LNG ใกล้เคียงปี65 กว่า 3 ล้านตันป้อนผลิตไฟฟ้า

ผู้ชมทั้งหมด 8,047 

สนพ. คาด ปี2566 ไทยนำเข้า LNG ใกล้เคียงปี 2565 กว่า 50 ลำ ปริมาณรวมกว่า 3 ล้านตัน ขณะที่ปัจจุบันนำเข้าแล้ว 34 ลำ กว่า 2 ล้านตัน ป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ส่วนเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่ 2 Shipper รายใหม่ จะนำเข้าได้ยังต้องรอ กกพ.ปรับหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) ตามมติกพช. คาด ชัดเจนในปีนี้

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ในปี2566 คาดว่า จะมีการนำเข้าLNG ใกล้เคียงกับปี 2565 ประมาณกว่า 50 ลำ ลำละประมาณ 60,000 ตัน หรือ คิดเป็นปริมาณ LNG รวมกว่า 3 ล้านตันต่อปี โดยตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงปัจจุบัน มีการนำเข้าLNG เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแล้ว ประมาณ 34 ลำ หรือ คิดเป็นปริมาณกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งการนำเข้า LNG ดังกล่าว คาดว่า จะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในปีนี้ไม่มากนัก เนื่องจากราคา LNG ปรับลดลงจากปีที่ผ่านมา และปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 12-13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม การนำเข้า LNG กว่า 50 ลำในปีนี้ จะดำเนินการโดย ปตท. ทั้งหมด เนื่องจากยังต้องรอการปรับปรุงโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติให้เรียบร้อยก่อน ขณะเดียวกันทางกระทรวงพลังงาน ก็มอบหมายให้ กกพ.ติดตามทิศทางราคาและความต้องการใช้ LNG ในอนาคต เพราะหากเห็นว่าแนวโน้มราคาจะถูกลง จะได้เร่งนำเข้าLNG ราคาถูกมาเก็บไว้ แต่ก็ต้องพิจารณาความต้องการใช้ก๊าซฯ(ดีมานด์)ให้เหมาะสมด้วย  

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( Shipper ) รายใหม่ทั้ง 8 ราย ยังไม่มีการนำเข้า LNG แม้ว่าราคา LNG จะปรับลดลงมามากแล้ว แต่ในส่วนของภาครัฐมองว่า อยากให้เป็นการนำเข้าLNG ระยะยาว มากกว่า การนำเข้าในรูปแบบระยะสั้น (Spot)

โดยการนำเข้าLNG ของ Shipper รายใหม่ คาดว่า จะดำเนินการได้ ภายหลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ออกหลักเกณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะเรื่องของการจัดตั้งหน่วยงาน Pool Manager ที่จะมากำกับการส่งก๊าซฯ รวมถึงหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) ที่จะต้องนำเข้ามาตั้งแต่ต้น โดยหลักการจะต้องนำเข้าในราคาที่สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะก่อนหน้านี้ที่มีการกำหนดโครงสร้างฯออกมาปรากฎว่ามีการออกราคา Benchmark มาแล้ว แต่ไม่สามารถปรับตัว หรือเปลี่ยนแปลงได้ทันต่อสถานการณ์ โดยจะเห็นว่า ก่อนหน้านี้ที่กระทรวงจัดทำโครงสร้างกิจการก๊าซฯ ราคาLNG คิดว่าถูก แต่พอแผนเดินหน้าไปดันเผชิญกับภาวะสงครามรัฐเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคา LNG ปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ก็ไม่เอื้อต่อการนำเข้า Shipper รายใหม่ ก็หยุดชะงักทุกราย ก็กลายเป็นปัญหา กพช.จึงมีมติให้ กกพ.กำหนดราคา LNG Benchmark ที่ทบทวนได้ทุกเดือน มีความยืดหยุ่น และมอนิเตอร์ให้รอบคอบมากขึ้น

“ปริมาณการนำเข้า LNG ตามแผนเปิดเสรีก๊าซฯระยะที่ 2 ต้องระบุให้ชัดเจน โดยตอนนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปตท. และสนพ. จะพิจารณาร่วมกัน และประกาศปริมาณนำเข้าที่ต้องไม่ติดปัญหา Take or Pay และสามารถนำเข้า LNG ได้เท่าไหร่ ซึ่งที่ผ่านมา Shipper รายใหม่ ทั้ง 8 ราย ต้องการให้เปิดเผยวิธีการคิด และการคำนวนที่โปร่งใส ก็จะมีการเปิดเผยออกมาโดย กกพ. คาดว่าจะมีความชัดเจนออกมาภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ราคาLNG ที่ถูกลงในปัจจุบัน เป็นจังหวะที่ดี ที่ภาครัฐจะเร่งกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆออกมาให้ชัดเจน เพื่อเอื้อให้ Shipper รายใหม่ นำเข้าLNG ได้จริง เพราะในอนาคตก๊าซฯในอ่าวไทยจะลดลง และประเทศไทยจะเข้าสู่การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 3 คือ ไม่มีก๊าซฯในอ่าวไทย หรือ ก๊าซฯเหลือน้อยที่สุด จะกลายเป็นต้องนำเข้า LNG เป็นหลัก ฉะนั้นการทดสอบให้มีผู้นำเข้าก๊าซฯ หลายๆราย เข้ามาในตลาด เพื่อให้เกิดการแข่งขันจากปัจจุบันที่มี ปตท.เป็นผู้นำเข้ารายเดียว

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2566 มีมติทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ดังนี้

1. ธุรกิจต้นน้ำ ให้ผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( Shipper ) รายเดิมคือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT Shipper และ Shipper ที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ สามารถจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG ) ได้ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) กำกับดูแล และกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการจัดหา LNG ตามปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ Take or Pay หรือ สัญญาไม่ซื้อก็ต้องจ่าย

2. ธุรกิจกลางน้ำ ให้ Shipper ทุกราย ในกลุ่มที่นำเข้า LNG เพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (Regulated Market) ขายก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่จัดหาได้ให้กับ หน่วยงาน Pool Manager เพื่อนำไปรวมเป็น Pool Gas ของประเทศ และซื้อก๊าซธรรมชาติออกจาก Pool Gas ตามปริมาณที่จัดหาและนำเข้า Pool Gas โดยมอบหมายให้ ปตท. เป็นผู้บริหารจัดการ Pool Gas ของประเทศ (Pool Manager) และให้ กกพ. กำกับดูแลการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับ Pool Manager

3. ธุรกิจปลายน้ำ ให้ Shipper ในกลุ่ม Regulated Market ซื้อก๊าซธรรมชาติจาก Pool Manager ในราคา Pool Gas ตามปริมาณก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่ Shipper นั้นๆ จัดหาและนำเข้า เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ และ Shipper ในกลุ่มที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ โดยขายให้ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง (Partially Regulated Market) ให้ขาย LNG ให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติได้โดยตรง

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ กกพ. ร่วมกันพิจารณาเพิ่มเติมแนวทางบริหารและกำกับดูแลโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติที่มีการทบทวนครั้งนี้ ให้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องทำให้เกิดการแข่งขันจากผู้ประกอบการหลายราย และทำให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกกลุ่มได้ประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันดังกล่าว