“สินนท์ ว่องกุศลกิจ” นำทัพบ้านปู ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 สานต่อกลยุทธ์ Greener & Smarter ลุยลงทุนพลังงานสะอาด

ผู้ชมทั้งหมด 2,225 

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารตามมติของคณะกรรมการบริษัท โดยแต่งตั้งนายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทนนางสมฤดี ชัยมงคล ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2567 พร้อมมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อการเดินหน้าธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่องและต่อยอดการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับอนาคต

นายสินนท์ กล่าวว่า บ้านปูเข้าสู่ทศวรรษที่ 5 ยังคงเดินหน้าธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter สร้างการเติบโตภายใต้ 3 ธุรกิจหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน โดยแผนการดำเนินงานในปี 2567 คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 50% อีก 50% ลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน

การขยายการลงทุนยังคงมุ่งเน้นลงทุนในประเทศที่บ้านปูมีฐานการลงทุนอยู่เดิมไม่ว่าจะเป็น ประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม รวมถึงในประเทศไทย โดยการลงทุนใหม่ยังคงเน้นเข้าซื้อกิจการ (M&A) และการร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจ ในกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน บ้านปูอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่ธุรกิจ Strategic minerals ในอินโดนีเซีย สปป.ลาว และออสเตรเลีย ซึ่งมีศักยภาพในการลงทุนเหมืองแร่ อาทิ ทอง ทองแดง ลิเทียม และนิกเกิล โดยเฉพาะลิเทียมกับนิกเกิลจะเป็นต้นน้ำในธุรกิจแบตเตอรี่ได้ ซึ่งจะใช้ความเชี่ยวชาญของทีมงานที่มีอยู่ในการขยายในธุรกิจเหมืองแร่ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้   

นายสินนท์ กล่าวว่า ธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯก็มองหาโอกาสลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม รวมถึงลงทุนในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) เพิ่มเติม ซึ่งโครงการ CCUS ปัจจุบันมีการลงทุนไปแล้ว 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการ Barnett Zero โครงการ Cotton Cove และโครงการ High West ที่มีการขายคาร์บอนเครดิตแล้ว ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติในปีนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับ 2.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู

ส่วนธุรกิจถ่านหินบริษัทจะไม่มีการขยายการลงทุนเพิ่มเติม แต่จะมีการลงทุนเพื่อลดต้นทุนการผลิต และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ลงทุนโซลาร์ฟาร์มในเหมืองถ่านหินใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตถ่านหิน การใช้รถ EV ในกระบวนการผลิต ขณะที่ปริมาณการขายรวมในปีนี้บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 38 ล้านตัน แบ่งเป็นเหมืองในอินโดนีเซีย 20 ล้านตัน ออสเตรเลีย 8 ล้านตัน จีน 10 ล้านตัน ส่วนราคาถ่านหินคาดว่าจะอยู่ในระดับ 125 เหรียญสหรัฐต่อตัน

นายสินนท์ กล่าวว่า การลงทุนในกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน มุ่งเน้นขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีนมีแผนที่จะขยายลงทุนในโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์รูฟท็อป ส่วนโรงไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนก็มีโอกาสขยายการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System Solutions: BESS) โดยเฉพาะโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มในประเทศออสเตรเลียและสหรัฐฯ รองรับเสรีการซื้อขายไฟฟ้า จากปัจจุบันมีการลงทุนในโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มที่เมืองอิวาเตะ โตโนะ ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการกักเก็บไฟฟ้ารวม 58 เมกะวัตต์ พร้อมกันนี้บ้านปูยังมีแผนลงทุนแบตเตอรี่ฟาร์มในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II ในสหรัฐฯ อีกด้วย

ส่วนการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีพลังงาน นอกจากลงทุนแบตเตอรี่ฟาร์มแล้วยังได้มีการลงทุน บริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วน 40% เพื่อร่วมกันพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยานยนต์ 2 ล้อ และ 3 ล้อ รวมไปถึงระบบกักเก็บพลังงาน การรีไซเคิลแบตเตอรี่ โดยจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในจังหวัดชลบุรี กำลังผลิตราว 2 กิกะวัตต์ชั่วโมง ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) แบตเตอรี่ของเอเชีย  

ขณะที่ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน (Smart Cities & Energy Management) มีความคืบหน้าสำคัญ โดยบริษัท บีเอ็นเอสพี สมาร์ท เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บ้านปู เน็กซ์  กับเอสพี กรุ๊ป ผู้ให้บริการระบบสาธารณูปโภคด้านพลังงานแห่งชาติในสิงคโปร์และเอเชีย-แปซิฟิก ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการออกแบบ พัฒนา และบริหารจัดการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี

ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ (E-Mobility) ยังขยายการให้บริการระบบสัญจรทางเลือกแบบครบวงจรในรูปแบบ Mobility as a Service (MaaS) และการบริหารการเดินทางและขนส่งด้วยยานพาหนะไฟฟ้า(EV Fleet Management) เพื่อส่งเสริมการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีจุดบริการไรด์ แชร์ริ่ง 2,500 จุด, คาร์แชร์ริ่งกว่า 1,500 จุด, สถานีชาร์จกว่า 300 สถานีและจุดบริการหลังการขายรถยนต์ไฟฟ้า 20 แห่ง

นอกจากนี้บ้านปูยังจะมุ่งเน้นดำเนินการในเรื่องของ Decarbonization และ ดิจิทัล รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เป็นเทรนด์ใหม่ เข้าไปดำเนินการปรับปรุงธุรกิจที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจที่มีอยู่สามารถสร้างอัตรากำไร (มาร์จิ้น) เพิ่มขึ้น