“สุริยะ” สั่งทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมพร้อมรองรับการเดินทางช่วงปีใหม่ 67

ผู้ชมทั้งหมด 12,308 

สุริยะ” สั่งทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมพร้อมรองรับการเดินทางช่วงปีใหม่ 67 คาดมีประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ -ระหว่างจังหวัด รวมเกือบ16 ล้านคน-เที่ยว และมีปริมาณจราจรบนทางหลวง 5 สายทางกว่า 10 ล้านคัน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567  ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยว หรือทำบุญด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลและใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ และเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกปลอดภัย เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน ทั้งในระบบขนส่งสาธารณะและโครงข่ายถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบทั่วประเทศ โดยสั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 4 มกราคม 2567 รวม 7 วัน โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ บูรณาการขับเคลื่อนแผนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อให้ประชาชน “เดินทางทั่วไทย คมนาคม สะดวก ปลอดภัย ใส่ใจให้บริการประชาชน” คลอบคลุมในทุกมิติ

นายสุริยะ กล่าวว่า สนข. คาดการณ์ว่าในช่วง 7 วันของเทศกาลปีใหม่ 2567 จะมีปริมาณจราจรขาเข้าและออกกรุงเทพฯ บนถนนทางหลวง 5 แนวสายทาง (Corridor) เพื่อไปยังภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยมีการจราจรบนทางหลวงสายหลักและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวม 6.96 ล้านคัน และบนทางพิเศษ รวม 10.68 ล้านคัน

ดังนั้นเพื่อบริหารการจราจรให้เกิดความคล่องตัว กระทรวงคมนาคมจึงมีการรณรงค์ขอให้ประชาชนวางแผนการเดินทางล่วงหน้า เพื่อกระจายการเดินทางและเหลื่อมเวลาการเดินทางในเส้นทางเข้า – ออกกรุงเทพฯ โดยขอความร่วมมือให้กลุ่มเดินทางใกล้ (ระยะทาง 200 – 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ) เดินทางออกหลังในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 และเดินทางกลับเข้าก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยเลี่ยงการเดินทางช่วงที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการเดินทางสูง สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะขอให้วางแผนการเดินทางโดยสามารถจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์

นอกจากนี้ คาดว่าจะมีปริมาณการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ รวม 14.1 ล้านคน-เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีที่ผ่านมา และการเดินทางระหว่างจังหวัดรวม 1.8 ล้านคน-เที่ยว ลดลงร้อยละ 3 จากปีที่ผ่านมา โดยการเดินทางในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะ และการเดินทางระหว่างจังหวัดส่วนใหญ่เป็นเครื่องบิน รถไฟ และรถโดยสารสาธารณะ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมระบบขนส่งสาธารณะทางบก ราง น้ำ และอากาศ รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางที่สถานีรถโดยสาร ท่าเรือ และท่าอากาศยาน เพื่อให้บริการแก่พี่น้องประชาชนอย่างเพียงพอและเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด

ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลการเดินทาง และช่องทางบริการให้ข้อมูลข่าวสารและรับเรื่องร้องเรียน และจุดบริการประชาชนผ่านศูนย์ปลอดภัยคมนาคม สายด่วน 1356 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ข้อมูลการเดินทาง รายงานอุบัติเหตุรวมทั้งรายงานสถานการณ์กรณีฉุกเฉิน และ Application  สายด่วน และ Website ของหน่วยงาน เพื่อบริการข้อมูลการเดินทาง แจ้งแนวทางให้บริการของหน่วยงานศูนย์ปฏิบัติการรายหน่วยงานเพื่อการกำกับดูแลและสั่งการ อาทิ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) รับเรื่องร้องเรียนจากการใช้บริการขนส่งสาธารณะสายด่วน 1584 ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สายด่วน 1690 จุดรับเรื่องร้องเรียน ณ หน่วยประชาสัมพันธ์ บริเวณสถานีขนส่ง ของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) สายด่วน 1508 ศูนย์ควบคุมการเดินเรือและศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางน้ำของกรมเจ้าท่า (จท.) สายด่วน 1199 ศูนย์อำนวยการสำนักทางหลวง ศูนย์ปฏิบัติการแขวงฯ สำนักงานบำรุงทางฯ และสำนักบริหารบำรุงทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง (ทล.) สายด่วน 1586

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมยังได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการจราจรบนเส้นทางถนนสายหลักและสายรองที่มีการจราจรหนาแน่นติดขัด อาทิ ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้เส้นทางรอง หรือเส้นทางเลี่ยงเพื่อลดปัญหาการติดขัดของจราจร เช่น เส้นทางที่จะไปภาคอีสาน สามารถใช้ ทล.304 (ฉะเชิงเทรา – กบินทร์บุรี) มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (ปากช่อง – สีคิ้ว – ขามทะเลสอ)

ส่วนเส้นทางที่จะไปภาคเหนือสามารถใช้ ทล.340 (บางบัวทอง – ชัยนาท) และเส้นทางที่จะไปภาคตะวันออกสามารถใช้ ทล.3 (สุขุมวิท) ทล.34 (บางนา – ตราด) เป็นเส้นทางเลี่ยงได้ พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีโครงการก่อสร้างในเส้นทางต่าง ๆ จะต้องคืนพื้นผิวจราจรและจัดการบริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างให้มีความปลอดภัย รวมทั้งห้ามรถบรรทุก 10 ล้อ วิ่งในเส้นทางหลัก ตลอดจนขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งสินค้า หลีกเลี่ยงการขนส่งสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อบรรเทาการจราจรและลดความเสี่ยงในเกิดอุบัติเหตุด้วย

อย่างไรก้ตามได้กำชับให้หน่วยงานสังกัดตรวจสอบ ปรับปรุง และจัดอุปกรณ์ความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน และรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย รักษาวินัยจราจร และระมัดระวังเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง โดยเน้นการลดพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ “ไม่ขับเร็ว – คาดเข็มขัดนิรภัย – สวมหมวกนิรภัย – ดื่มไม่ขับ – ง่วงไม่ขับ – ไม่ขับรถย้อนศร” รวมถึงการสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่สัญจรทางน้ำ และเพิ่มความระมัดระวังเมื่อเดินทางผ่านจุดเสี่ยง เช่น บริเวณจุดตัดรถไฟ เป็นต้น

รวมทั้งกำกับดูแลและบริหารจัดการให้เกิดความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด อาทิ ตรวจความพร้อมและมาตรฐานความปลอดภัยของพนักงานขับขี่ ยานพาหนะ และสถานีขนส่ง ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ และการนำเทคโนโลยี เช่น กล้อง CCTV ระบบ GPS มาช่วยกำกับดูแลความปลอดภัยทางถนน นำระบบ AIS/VMS มาช่วยกำกับดูแลความปลอดภัยทางน้ำ ที่สำคัญให้บูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางในระดับท้องถิ่น อาทิ การรณรงค์ให้ชุมชนในพื้นที่ดูแลซึ่งกันและกัน การเฝ้าระวังจุดตัดถนนกับรถไฟ การดูแลจุดเสี่ยงและการตั้งจุดตรวจบริเวณชุมชนด้วย