ส่องความคืบหน้ารถไฟทางคู่นครปฐม – ชุมพร 90% พร้อมเปิดบริการปี 65

ผู้ชมทั้งหมด 857 

กรมการขนส่งทางราง ลุยหัวหินประเมินคุณภาพ “สถานีดีพร้อม” ติดตามความคืบหน้ารถไฟทางคู่สายใต้ (ช่วงนครปฐม – ชุมพร) คืบหน้ากว่า 90% พร้อมเปิดบริการปี 65 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วย ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจประเมินสถานีรถไฟ ภายใต้กิจกรรมประกวด “สถานีดีพร้อม” ณ สถานีรถไฟหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ (ช่วงนครปฐม – ชุมพร)

นายสรพงศ์ฯ กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ (ช่วงนครปฐม – ชุมพร) ระยะทาง 421 กิโลเมตร มูลค่าโครงการรวม 33,982 ล้านบาท และสัญญาจ้างงานระบบอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา มูลค่าโครงการรวม 6,210 ล้านบาท โดยในภาพรวมของโครงการมีความคืบหน้ากว่า 90 % แบ่งงานก่อสร้างเป็น 3 ช่วง ดังนี้ 1.ช่วงนครปฐม – หัวหิน ระยะทาง 169 กม. แบ่งเป็น 2 สัญญา สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล คืบหน้า 97.087% สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล – หัวหิน คืบหน้า 94.828%

2.ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร คืบหน้า 99.94% และ 3.ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ระยะทาง 167 กม. แบ่งเป็น 2 สัญญา สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – บางสะพานน้อย คืบหน้า 85.073% สัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย – ชุมพร คืบหน้า 87.128% โดยกระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2565

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-ชุมพร คาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดเดินรถได้ประมาณปลายปี 2565 ซึ่งจะช่วยให้สามารถเปิดให้บริการเดินรถแบบกึ่งอัตโนมัติ ช่วยให้การเดินทางเร็วขึ้น 1-2 ชั่วโมง และเมื่องานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2566 การเดินรถจะสมบูรณ์เต็มรูปแบบ เช่น การเดินทางจากกรุงเทพฯ – หัวหิน จากเดิมใช้เวลาเดินทางด้วยรถไฟ 5 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมง 30 นาที ขณะที่การเดินรถไฟตลอดทั้งเส้นทาง ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กม. ปกติใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 – 9 ชั่วโมง เมื่อก่อสร้างเสร็จทั้งระบบจะใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง 30 นาที ภายใต้ความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการขนส่งทางรางได้ดำเนินการโครงการศึกษาจัดทำระบบประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานการขนส่งทางรางในแต่ละสายทางของประเทศ เพื่อยกระดับระบบรางของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ส่งเสริมให้ระบบรางเป็นโครงข่ายการเดินทางและขนส่งหลักของประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางในระดับภูมิภาคต่อไปในอนาคตในการดำเนินโครงการได้มีการจัดทำตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อใช้ในการกำกับติดตามระบบรางของประเทศไทยให้มีคุณภาพการบริการที่ดีและมีความปลอดภัย 

โดยมีตัวชี้วัดระดับหน่วยงานกำกับดูแลระบบขนส่งทางราง (Regulatory Indicator :RI) แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1) ประสิทธิภาพของระบบ (System Scope) 2) ประสิทธิภาพด้านการบริการ (Customer-Centric Performance) 3) ประสิทธิภาพด้านการดำเนินงาน (Operational Performance) 4) ความปลอดภัยในการดำเนินงาน (Operational Safety) และ 5) ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) รวมทั้งจัดทำระบบกำกับประเมินประสิทธิภาพระบบรางที่สามารถใช้งานได้สะดวก ไม่เพิ่มภาระแก่หน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งทางราง โดยการจัดเก็บข้อมูลในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนำเสนอในรูปแบบแดชบอร์ด (Dashboard) เป็นสถิติ แผนภาพ หรือกราฟที่เข้าใจง่าย ทำให้กรมการขนส่งทางรางสามารถติดตาม กำกับ และรายงานต่อผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เพื่อประกอบการตัดสินใจได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทันสถานการณ์ ตอบโจทย์การพัฒนาประสิทธิภาพระบบรางไทยได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางได้จัดกิจกรรมประกวด “สถานีดีพร้อม” ภายใต้แนวคิด “กรมรางสร้างสุข ด้วยคุณภาพดีพร้อม DRT creates happiness of stations” เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการขนส่งทางรางสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระบบรางให้เป็นแกนหลักในการเดินทางและการขนส่งของประเทศ ขณะเดียวกันเป็นการขานรับนโยบายของกระทรวงคมนาคม “คมนาคมสีสัน สร้างสรรค์ประเทศไทย”
ในการส่งเสริมทัศนียภาพระบบราง เพื่อให้เส้นทางรถไฟเป็นเส้นทางท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอีกด้วย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ขร. ได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนหน่วยงานระบบรางเข้าร่วมกิจกรรม โดยมีสถานีรถไฟเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 43 สถานี แบ่งเป็น กลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง จำนวน 28 สถานี และกลุ่มสถานีรถไฟ ทั่วประเทศ จำนวน 15 สถานี โดยจะมีการประเมินโดยรวมทั้งหมด 8 ด้านประกอบไปด้วย

1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เช่น การให้บริการที่จอดรถ ทางเข้า – ออก ในการรองรับ การใช้บริการการจำหน่ายบัตรโดยสาร 

2) ด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) เช่น การเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น 

3) ด้านข้อมูลการเดินทางและประชาสัมพันธ์ (Information) เช่น ป้ายบอกทิศทางในสถานี การติดประกาศ/การให้ข้อมูลในการเดินทาง 

4) ด้านความปลอดภัย (Safety and Security) เช่น มาตรการป้องกัน COVID – 19 การติดตั้งกล้องวงจรปิด ไฟส่องสว่าง หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทางออกฉุกเฉิน 

5) ด้านความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก (Comfort) เช่น ห้องน้ำ ร้านค้า/อาหาร/เครื่องดื่ม ความสามารถในการรองรับผู้มาใช้บริการ

6) ด้านการออกแบบตามหลัก Universal Design เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ 

7) ด้านการให้บริการ (Customer Care) เช่น กิริยามารยาทและความสุภาพของเจ้าหน้าที่ 

8) ด้านสุนทรียภาพ (Aesthetic) เช่น สุนทรียภาพ อัตลักษณ์ หรือการจัดการสิ่งแวดล้อมของสถานี 

ซึ่งในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 นี้ จะมีการตรวจประเมินคุณภาพทุกสถานีที่เข้าร่วมประกวดเพื่อคัดเลือกอย่างเข้มข้น หลังจากนั้นจะมีการตัดสินการประกวดและมอบรางวัลในเดือนกรกฎาคม 2565 ต่อไป