“อนุทิน” “ศักดิ์สยาม”จัดรถไฟส่งผู้ป่วยโควิดกลับไปรักษาภูมิลำเนา

ผู้ชมทั้งหมด 634 

“อนุทิน” “ศักดิ์สยาม” จัดขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับรักษาตัวที่ภูมิลำเนา จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้สนับสนุนให้มีการจัดขบวนรถไฟขบวนพิเศษส่งผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 135 คน ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและยังไม่ได้รับการรักษา และเป็นผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว และสีเหลือง กลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และสุรินทร์

ขบวนรถจะจอดส่งผู้ป่วยที่นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี การขนส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาจะมีการควบคุมโดยทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขตลอดการเดินทาง และจะมีรถฉุกเฉินรับผู้ป่วยต่อจากขบวนรถไฟไปยังสถานพยาบาลของแต่ละพื้นที่ทันทีที่ขบวนรถไฟถึงสถานีปลายทางของแต่ละพื้นที่ การจัดส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาเพื่อรักษาตัวนั้นจะมีต่อไปเรื่อย ๆ

โดยกระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนให้มีการขนส่งทุกรูปแบบ ทั้งรถไฟ รถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และถ้ามีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากและมีภูมิลำเนาระยะทางไกลจะประสานกับกระทรวงกลาโหมเพื่อจะได้ขนส่งผู้ป่วยทางอากาศยาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะดูแลประชาชนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 กลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา กระทรวงคมนาคมได้เตรียมการรองรับผู้ป่วยทุกกลุ่มเป้าหมายที่จะเดินทางกลับไปรักษาตัว

โดยบูรณาการกับกระทรวงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด เพื่อรับผู้ป่วยเข้ารักษาในสถานพยาบาลของแต่ละจังหวัด โดยจะไม่ให้เป็นการเสี่ยงกับประชาชนปกติในพื้นที่ และในวันนี้ (27 ก.ค. 2564) นั้นเป็นการส่งผู้ป่วยกลุ่มใหญ่เดินทางกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 7 จังหวัด

ขบวนรถไฟขบวนพิเศษนี้จะจอดส่งผู้ป่วยตามสถานีที่ได้เตรียมการรองรับไว้แล้วเท่านั้น ไม่จอดระหว่างทาง ในส่วนของจังหวัดที่รถไฟไปไม่ถึงจะใช้รถของ บขส. โดยมีทีมแพทย์ควบคุมตลอดเส้นทาง ส่วนผู้ป่วยกลุ่มขนาดเล็ก ได้มีการประสานงานเพื่อขอรถของโรงพยาบาล รถของมูลนิธิ รถของกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ ไว้รองรับ

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขบวนรถไฟที่ใช้ขนส่งผู้ป่วยโควิด-19 ในวันนี้เป็นขบวนรถไฟ CNR ขบวนพิเศษขบวนใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นรถนั่งและนอนปรับอากาศ ห้องน้ำระบบปิดมีระบบปรับอากาศเหมือนกับบนเครื่องบิน ตู้โดยสารรองรับผู้ป่วยได้ 30 คนต่อตู้ แต่ละตู้จะแยกผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว และสีเหลืองชัดเจน มีตู้สำหรับทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่ และตู้เสบียงสำหรับผู้ป่วย มั่นใจในความปลอดภัยได้ตลอดการเดินทาง ขบวนรถดังกล่าวใช้ระบบ Power Car จ่ายไฟฟ้าและระบบปรับอากาศทั้งขบวน โดยเริ่มต้นทางจากสถานีรังสิต – ปลายทางอุบลราชธานี