เกาะกระแสพลังงาน เดือนพฤศจิกายน 2564

ผู้ชมทั้งหมด 1,250 

เหลือเพียง 2 เดือน ประเทศก็จะก้าวเข้าสู่ปีพุทธศักราชใหม่ 2565 บนความคาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง

การก้าวเข้าสู่เดือนที่ 9 ของปีนี้ (เดือนพฤศจิกายน) ด้วยการเปิดประเทศวันแรกตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อต้อนรับการเข้ามาของต่างชาติ ก็เป็นความหวังต่อการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน รวมถึงภาคบริการและการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่น่ากังวลในเดือนนี้ ก็คือ “ต้นทุนราคาพลังงาน” กลับไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ทำสถิติปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 7 ปี ทะลุ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการภาคขนส่ง ออกมาเรียกร้องให้รัฐเร่งตรึงราคาดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงภาคขนส่งสินค้าที่สำคัญ

กระทรวงพลังงาน จึงเร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน และงัดมาตรการเดิมที่ทำกันมาต่อเนื่องในหลายรัฐบาล ทั้งการปรับลดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ตลอดจนตรึงราคาขายปลีกดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้กลไกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาดูแล แต่ก็ยังติดปัญหา เมื่อเงินกองทุนฯ ร่อยหรอลง

ดังนั้น ประเด็นเกี่ยวกับ “นโยบายพลังงาน” ที่ต้องติดตามความคืบหน้าในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีเรื่องที่น่าสนใจดังนี้

เรื่องแรก คือ ความคืบหน้าการกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะประชุมในวันที่ 1 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาวาระสำคัญเรื่องกรอบการกู้เงินของ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่สามารถใช้สิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้กู้เงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เพื่อนำมาพยุงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 3 ชนิด คือ ดีเซล บี7,บี10 และบี 20 ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) วันที่ 5 พ.ย.นี้ และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติต่อไป

เรื่องที่สอง คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เบื้องต้นมีกำหนดการจัดประชุมในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ซึ่งมีหลายวาระให้พิจารณานอกเหนือจากการกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ ก็ต้องติดตามดูว่า กระทรวงพลังงาน จะนำเสนอแผนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนAEDP 2018 หรือไม่ โดยเฉพาะการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนรอบใหม่ 400 เมกะวัตต์ เป็นต้น

หลังจาก คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) หารือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อจัดทำรายละเอียดการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) สำหรับช่วงเวลา พ.ศ. 2564-2573 หรือในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น หรือไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ

เรื่องที่สาม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) สมัยที่ 26 ระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2564 โดย นายกฯ จะได้นำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย (Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS) เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงปารีส และย้ำให้ประชาคมโลกทราบถึงเป้าหมายของไทย และการดำเนินการที่แข็งขันของไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

โดยแผนพลังงานชาติ มีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ปี 2065-2070 (พ.ศ.2608-2613) โดยเน้นภาคการไฟฟ้าและขนส่งเป็นหลัก เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด

เรื่องที่สี่ คือ การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) กับผู้ชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (นำร่อง) 150 เมกะวัตต์ ทั้ง 43 ราย ที่เดิมภาครัฐคาดหมายว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคมนี้

เรื่องที่ห้า คือ ความคืบหน้าการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) หลังจากภาครัฐ ตั้งเป้าหมายจะออกนโยบายสนับสนุนทั้งด้านการเงินและมาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนตามนโยบาย 30/30 หรือ การส่งเสริมการผลิตรถ EV ในประเทศให้ได้ 30% ภายในปีค.ศ. 2030 และถือเป็นโอกาสพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เน้นเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุน และรักษาฐานการผลิตรถยนต์ของประเทศไว้ ซึ่งเรื่องนี้ ล่าช้ามาร่วม 2 เดือนแล้ว ก็คาดหวังว่าจะเห็นความคืบหน้าได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้