เชฟรอน หวังเห็นรัฐบาลใหม่เร่งเจรจากัมพูชาพัฒนาพื้นที่ OCA ชี้มี License พร้อมเข้าสำรวจ

ผู้ชมทั้งหมด 460 

เชฟรอน หวังเห็นรัฐบาลใหม่เร่งเจรจากัมพูชาพัฒนาพื้นที่ OCA ชี้มี License พร้อมเข้าสำรวจหากมีข้อสรุป ส่วนแหล่งเลียมไพลินยื่นต่ออายุอีก 10 ปี ทุ่มงบ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เจาะหลุมผลิตปิโตรเลียมเพิ่ม

นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากต่างประเทศ ขณะที่แหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยก็ค่อยๆ ลดลง ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งดำเนินการเจรจากับรัฐบาลประเทศกัมพูชา เพื่อผลักดันพัฒนาพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claimed Area-OCA) เพื่อหาแนวทางร่วมกันพัฒนาพื้นที่ OCA ใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติร่วมกัน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในระยะยาว ทั้งนี้หากเกิดการพัฒนาในพื้นที่ OCA เชฟรอนฯ ก็พร้อมที่จะเข้าไปสำรวจ เนื่องจากเชฟรอนฯ มีใบอนุญาตในการสำรวจ (License) อยู่ในแปลงของพื้นที่ OCA อยู่แล้ว  

สำหรับแหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลินที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2571 นั้นทางบริษัทฯ ได้ยื่นขอต่ออายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 10 ปีถึงปี 2581 เนื่องจากเห็นศักยภาพในการผลิตปิโตรเลียมต่อไปได้อีกในอนาคต ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียด ซึ่งหากเชฟรอนฯ ได้ต่ออายุสัญญาสัมปทานผลิตปิโตรเลียมไพลินจะทำให้มีศักยภาพ และมีความคุ้มค่าในการพัฒนาการผลิตน้ำมันดิบในแหล่งปิโตรเลียมอุบล ซึ่งอยู่ในพื้นที่สัมปทานของแหล่งไพลิน

ส่วนกรณีที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีแผนที่จะเปิดประมูลสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมบนบกในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นทางเชฟรอนไม่มีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูล เนื่องจากมองว่าแหล่งปิโตรเลียมบนบกมีศักยภายไม่มาก ในขณะเดียวกันเชฟรอนฯ มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาในแหล่งผลิตปิโตรเลียมในทะเลมากกว่า

นายชาทิตย์ กล่าวว่า แผนการลงทุนในปี 2566 บริษัทฯได้ตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเจาะหลุมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติมหวังรักษากำลังการผลิตปิโตรเลียมไว้จากปัจจุบันบริษัทฯ มีแหล่งผลิตปิโตรเลียมในไทยอยู่ 2 แหล่ง คือ แหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลิน (B12/27) กับแหล่งผลิตปิโตรเลียมเบญจมาศ (B8/32)

โดยเชฟรอนฯ มีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน น้ำมันดิบ 15,000 บาร์เรล/วันและคอนเดนเสท 15,000 บาร์เรล/วัน คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของปริมาณการผลิตเดิมก่อนที่เชฟรอนจะส่งมอบแหล่งG1/61 (เอราวัณ) ให้กับ ปตท.สผ. เมื่อเม.ย.2565