เปลี่ยนผ่านพลังงานไทย “เป็นธรรม” หรือ “ทำ” ตามใคร

ผู้ชมทั้งหมด 1,228 

ปัจจุบันการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าในหลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านพลังงานทดแทน หรือในยุคนี้หลายคนมักจะเรียกว่า พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) กันมากขึ้น แต่การผลิตไฟฟ้ายังไม่เสถียรเท่ากับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล และการจะเปลี่ยนผ่านจากฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่มากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลคงทำได้ยากสำหรับการลงทุนในประเทศไทย ในขณะเดียวการการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากฟอสซิล หรือพลังงานหมุนเวียน และไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชนต้องมีธรรมาภิบาล (Good Governance) คือการปกครอง การบริหารจัดการที่ดี การจัดการควบคุมดูและกิจการต่างๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ทั้งนี้ล่าสุดสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “เปลี่ยนผ่านพลังงานไทยเป็น “ธรรม” หรือ ทำตามใคร” โดย รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่สำคัญของโลก ว่า สภาพอากาศมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นวิกฤตของโลก อาจจะทำให้เกิดภัยพิบัติหรือหายนะต่างประเทศกังวลเป็นอย่างมากว่าจะอยู่อย่างไร

ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเลกทรอนิกส์ที่ขับเคลื่อนไปสู่พลังงานสะอาด จะได้รับการตอบรับที่ดี ส่วนน้ำมัน ถ่านหิน จะผลกระทบพนักงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมัน ถ่านหินต้องไปหาแหล่งรายได้ใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้มีตำแหน่งงานใหม่ 24 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2573 ขณะเดียวกันก็คาดว่าจะมี 6 ล้านตำแหน่งที่สุ่มเสี่ยงที่จะต้องตกงาน ดังนั้นรัฐบาลต้องมองทุกมิติ ทั้งสังคม ธุรกิจ ในขณะเดียวกันต้องดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย ทำอย่างไรให้คนไม่ตกงาน ไม่ขาดรายได้

แนวคิด Just Transition คือ นโยบายลดโลกร้อนต้องเป็นธรรมต่อคนงาน สร้างงานที่ดี มีคุณค่า การเปลี่ยนแปลงในอนาคตต้องไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้กับคนกลุ่มเดียว ต้องดูแลพนักงานเดิมด้วย

รศ.ดร.กิริยา ยกตัวอย่างต่างประเทศ ว่า ประเทศเยอรมนีเป็นปรเทศหนึ่งที่ทำเหมืองถ่านหิน แล้วปิดเหมืองเพื่อมุ่งสู่พลังงานสีเขียว แต่คนงานก็ไม่อยากตกงาน พยายามขอให้ภาครัฐอุดหนุน แต่รัฐก็มีความพยายามเปลี่ยนผ่านจากถ่านหินสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน จึงจัดให้กลุ่มแรงงาน ธุรกิจ NGO มาพูดคุยกัน นำหลายประเด็นมาแก้ปัญหา เมืองที่ตั้งของเหมืองถ่านหินจึงได้รับการพัฒนาที่ทันสมัยมากทางเทคโนโลยี เกิดการจ้างงานต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าเยอรมันมีระบบที่ดี พอปิดเหมืองแล้วมีการพูดคุยว่าประชาชนอยากจะทำอะไร สุดท้ายเมืองนี้ก็กลายเป็นเมืองที่ทันสมัย มีแต่คนเก่ง ๆ เข้าไปอยู่อาศัย ศึกษาพลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือก มีแหล่งท่องเที่ยว เปลี่ยนโฉมให้มีความหลากหลายทางธุรกิจ เพราะการสูญเสียเหมืองมันยิ่งใหญ่มาก ต้องทดแทนกันให้ได้

นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างการปิดเหมืองแร่ที่ออสเตรเลีย ว่า หลังจากการปิดเหมืองแร่ที่ออสเตรเลียมีพนักงานกว่า 74% ไม่ต้องทำงานต่อเพราะหลายคนเกษียณอายุ แต่ยังเหลืออีก 26% ที่ยังไม่เกษียณอายุไม่มีงานทำบทเรียนการปิดเหมืองนี้ทำให้สหภาพแรงงานต้องออกมาบอกว่าถ้าจะปิดเหมืองให้บอกล่วงหน้า 7 ปี เพื่อให้พนักงานสามารถวางแผนชีวิตได้ และสามารถไปหางานทำใหม่ได้

อีกตัวอย่างของการปิดเหมืองถ่านหินในนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาก็สามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี โดย รศ.ดร.กิริยา ระบุว่า เหมืองถ่านหินในนิวยอร์ค อยู่ใกล้กับน้ำตกไนแองการา เป็นเหมืองใหญ่ รายได้ของรัฐนี้ก็มาจากเหมืองถ่านหินพอปิดเหมืองก็ส่งผลให้โรงเรียนต้องปิดไปด้วย ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง การปิดเหมืองกระทบต่อชุมชน จึงมีการคุยกันทำแผนเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเมือง นำอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามา มีการปรับปรุงอาคารเก่าๆ มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นชุมชนส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านพื้นที่เกิดประโยชน์มากขึ้นกับชุมชน  

ส่วนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนก็ต้องมีการประเมินอย่างรอบด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนรอบข้าม การใช้ประโยชน์บริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์ฟาร์ม โดยอยากให้นโยบายภาครัฐส่งเสริมให้สามารถใช้พื้นที่ใต้แผงโซลาร์เซลล์ หรือบริเวณพื้นที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้ชุมชนสามารถปลูกผักได้ด้วย หรืออาจจะใช้ประโยชน์ด้านอื่น ก็ต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐไปพิจารณาอย่างรอบครอบ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Green Energy มาแรงแซงโค้ง แรงงานไฟฟ้าจะไปในทิศทางใด

ด้าน นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการ กฟผ. ได้อธิบายถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียวที่มาแรงในยุคปัจจุบัน ว่า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ควรเกิน 15% เป็นหลักคิดที่ไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งมีพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบจำนวนมาก ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี ในปี 2022 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 74 GW และมีกำลังผลิตมีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึง 240.93% ราคาค่าไฟฟ้า  12.97 บาท/หน่วย

ทั้งนี้แม้เยอรมันจะมีสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% แต่ในช่วงสงครามรัสเซีย – ยูเครนก็ยังมีปัญหาเรื่องก๊าซธรรมชาติ เพราะว่าพลังงานหมุนเวียนไม่เสถียรทำให้ต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากประเทศฝรั่งเศส

ดังนั้นความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่เพิ่ม แต่ประเทศมีการลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่ม ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพง อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟแพง คือ การกำหนดอายุสัญญาโรงไฟฟ้าสั้นจาก 25 ปี เหลือ 10 ปี เมื่อเอกชนต้องรับความเสี่ยง ก็ทำให้ค่าไฟแพง ในขณะเดียวกันการอุดหนุนผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) หรือโรงไฟฟ้า SPP และการสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของรัฐคิดเป็นเงิน 8 แสนกว่าล้านบาท รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าที่คนไทยต้องจ่าย

พร้อมกันนี้ นายกรศิษฏ์ ยังได้อธิบายถึงการจัดการความเป็นธรรมด้านราคาค่าไฟ โดยยกตัวอย่าง ว่า การคิดค่าไฟฟ้าแบบ Net Billing กับ Net Metering โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับกรณี กฟผ. เปรียบเสมือนพ่อค้ามะม่วง เดิมรับซื้อมะม่วงจากสวนในราคา กก. ละ 2 บาท บวกค่าขนส่งและกำไรนำไปขายที่ราคา กก. ละ 3 บาท และเมื่อลูกค้าปลูกมะม่วงเองที่บ้านได้ต้องการขายให้พ่อค้าที่ราคา 3 บาท ทั้งที่ไม่ต้นทุนค่าขนส่งอะไร กลายเป็นภาระตกอยู่กับพ่อค้ามะม่วง และเมื่อรับซื้อมาแล้วก็ต้องนำไปขายต่อให้ลูกค้ารายอื่นในราคาสูงกว่า 3 บาท ทำให้ต้องซื้อมะม่วงในราคาสูงขึ้น ซึ่งเปรียบได้กับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ติดโซลาร์รูฟท็อปแต่ต้องมาร่วมรับภาระกับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นนี้ด้วย

ด้าน ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงแรงงานภาคพลังงานในยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ว่า นับเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ประเทศไทยมีการถกเถียงกันมาตลอดว่า ควรมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไปเป็นพลังงานทดแทนหรือไม่ ซึ่งคงต้องยอมรับว่าการต่อรองเรื่องจะเอาหรือไม่เอาพลังงานฟอสซิลเป็นเรื่องสายไปแล้ว เพราะโลกก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านแล้ว

การเปลี่ยนผ่านพลังงานนั้นเกิดจากทั้งกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงาน และทุนนิยม ดังนั้น เพื่ิอรองรับการเปลี่ยนผ่าน การเข้ามาของเทคโนโลยี แรงงานควรมีการ Up-skill หรือ Re-skill เพื่อให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะความรู้หรือทักษะที่เรามีอาจจะใช้ไม่ได้ หรือไม่เพียงพออีกต่อไป