เปิดวิสัยทัศน์ ปธ.บอร์ด AOT คนใหม่ ตั้งเป้า 2 ปีดันสุวรรณภูมิติด 1 ใน 50 สนามบินดีสุดในโลก

ผู้ชมทั้งหมด 341 

เปิดวิสัยทัศน์! “วิสนุ ปราสาททองโอสถ” ปธ.บอร์ด AOT คนใหม่ ตั้งเป้า 2 ปีดันสุวรรณภูมิติด 1 ใน 50 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลก พร้อมเร่งปรับปรุงบริการ เดินทางรวดเร็ว สดวก สบาย ห้องน้ำต้องสะอาด ส่วนด้านกายภาพเร่งขยายสนามบินรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 90 ล้านคนต่อปี

พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า ตนมีวิสัยทัศน์มุ่งมั่นในการบริหารงาน AOT ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยจะยกระดับการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางอากาศแห่งภูมิภาค สู่ประตูการบินของโลก และที่ตั้งของประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิยุทธศาสตร์ของภูมิภาค จึงต้องการพัฒนาท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ AOT 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ให้ได้มาตรฐานสเป็นที่ยอมรับ เน้นการให้บริการผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวให้สามารถมารถเดินทางเข้ามาได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ที่มีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก และยอมรับว่าการให้บริการในบางจุดยังเป็นคอขวดในบางช่วงเวลา จึงมีแผนพัฒนาปรับปรุงทั้งระบบการให้บริการและระบบกายภาพที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้า และผู้ใช้บริการ

โดยนโยบายเร่งด่วนที่ AOTต้องปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน คือ การเร่งปรับปรุงห้องน้ำ ต้องสะอาด สะดวกสบาย มีอุปกรณ์ทันสมัยครบครัน เพียงพอต่อความต้องการ และการเพิ่มเครื่องระบบช่องทางตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ หรือ Automatic channel ให้มากที่สุด และได้มีการประสานงานใกล้ชิดกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้ผู้โดยสารใช้เวลาในจุดนี้น้อยที่สุด และในอนาคตก็จะลดขั้นตอนเป็นระบบไบโอเมทริกซ์ทั้งหมดที่ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ของผู้โดยสารที่เข้ามาใช้สนามบินอย่างมีความสุข

ขณะเดียวกันให้เร่งแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าอาคารผู้โดยสาร เพราะเวลานี้มีรถยนต์มาจอดรอรับผู้โดยสารขาเข้าค่อนข้างมาก รวมถึงยังมีการจอดรอตลอดแนวเส้นทางก่อนถึงอาคารผู้โดยสารอีกด้วย  ดังนั้นจึงให้ AOT ไปเร่งหามาตรการแก้ปัญหา เช่น หาพื้นที่ให้จอดรอรับผู้โดยสารในอาคารจอดรถที่ไม่ต้องเสียค่าจอด 30 นาทีแรกได้หรือไม่ เพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น

ส่วนทางกายภาพนั้นในส่วนของ ทสภ.มีแผนก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศเหนือ (North Expansion) วงเงินก่อสร้างประมาณ 4 หมื่นล้านบาทโดยขณะนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำลังพิจารณาเพื่อเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณต่อไป นอกจากนี้ยังต้องสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงินก่อสร้างประมาณ 9 พันล้านบาท และด้านทิศตะวันตก (West Expansion) วงเงินก่อสร้างประมาณ  9 พัน ล้านบาท  เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 90 ล้านคนต่อปี ส่วนทางวิ่งเส้นที่ 3 หรือ 3rd Runway ที่ ทสภ. เพื่อรองรับเที่ยวบินเพิ่มจาก 64 เที่ยวบิน เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมงนั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานได้ในเดือนกรกฎาคม 2567

ส่วน ทดม.ก็มีความคับแคบในขณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก จึงจะมีการปรับปรุงก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้าน เป็น 50 ล้านคนต่อปี โดยขณะนี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณเรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นจะมีการปรับปรุงหลุมจอดที่ ทดม. โดยอยู่ระหว่างการออกแบบและขออนุญาต โดยจะอนุมัติได้ในเดือนธันวาคม 2567 นี้ และจะเริ่มก่อสร้างช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 – ธันวาคม 2573

“การมานั่งประธานบอร์ด AOT ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก แต่ได้ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 2 ปีจะผลักดันให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิติด 1 ใน 50 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลกให้ได้ จากปัจจุบันถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 77 ของท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลก” พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวและว่า ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะจัดประชุมเชิงปฎิบัติการ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริหาร AOT คู่ค้า และผู้โดยสาร มาหารือและปรึกษาร่วมกันในการจะขับเคลื่อน ทสถ.ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

ส่วนในเรื่องของการสร้างผลกำไรในฐานะบริษัทมหาชนก็ให้ความสำคัญกับการสร้างการตลาดเชิงรุกทางการบิน ทั้งการสร้างโอกาสแก่สายการบิน ทั้งการวิเคราะห์ตลาด การเงิน และเส้นทางการบิน รวมถึงให้ ความสำคัญกับการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยในอนาคตจะมีท่าอากาศยานภูมิภาคโอนจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มาอยู่ในการบริหารของ AOT คือ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานกระบี่ ซึ่งจะต้องมีการร่วมหารือกับทุกฝ่ายทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อยกระดับความสามารถของสนามบินทั้ง 3 แห่ง ให้เป็นประตูบานใหม่ของประเทศที่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกให้เข้ามาสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ภูมิภาคดังกล่าวตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย