“เอกชน” จี้ “รัฐ” ปลดล็อก “เปิดซื้อขายไฟฟ้าเสรี” ผลักดันผลิตไฟ RE 100 สกัดตั้งกำแพงภาษีกีดกัน“ส่งออก”

ผู้ชมทั้งหมด 1,342 

กระแสการตื่นตัวของหลายประเทศทั่วโลกที่ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา “ภาวะโลกร้อน” จนนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์) สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ซึ่งเป็นแนวทางความร่วมมือร่วมมือกันเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกให้สอดคล้องกับการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)

“ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในประชาคมโลกที่ประกาศตัวเข้าร่วมข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว โดยกระทรวงพลังงาน ได้ยกร่างแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) กำหนดเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) และNet Zero Emission ในปี ค.ศ.2065-2070 เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวนการแข่งขันในเวทีการค้าระดับโลก ที่จะมีการตั้งกำแพงภาษีออกมากีดกันการส่งออกสินค้าในอนาคต

“ภาคเอกชนไทย” ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและเห็นว่าการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% หรือ RE 100 เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดเสวนา หัวข้อ RE100 Thailand :ความท้าทายของประเทศไทย ในการมุ่งสู่ Carbon Emission Net Zero และ Energy Transition” ที่จัดขึ้นภายใต้งาน ASEAN SUSTAINABLE ENERGY WEEK 2021 AND PUMPS & VALVES ASIA 2021VIRTUAL EDITION เพื่อเป็นข้อเสนอแนะถึงภาคนโยบายในการปลดล็อกอุปสรรคในการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจาก RE 100

นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ระบุว่า RE 100 เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนที่เป็นปัญหาสำคัญในการเกิดภาวะโลกร้อน เพราะการผลิตไฟฟ้าจาก RE 100 ไม่มีการปลดปล่อยคาร์บอนออกไปเลย แต่ในระดับประเทศไทยการจะไปสู่ RE 100 ทันทียังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากโครงการการผลิตไฟฟ้ายังพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเกือบ 70% และมีสัญญาซื้อก๊าซฯผูกพันไว้แล้วรวม 20ปี และการจะก้าวสู่ RE 100 ได้นั้นในระดับประเทศยังต้องรอให้ระบบกักเก็บพลังงาน(ESS) มีต้นทุนถูกลงเพื่อให้การผลิตไฟฟ้า RE 100 มีต้นทุนที่แข่งขันได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิล

ขณะที่การส่งเสริมผลิตไฟฟ้าในระดับองค์กร สามารถดำเนินการได้ก่อน หากรัฐปลดล็อกซื้อขายไฟฟ้าข้ามสายส่งได้ โดยรัฐต้องแก้ไขกฎระเบียบเพื่อ “เปิดซื้อขายไฟฟ้าเสรี” รองรับการผลิตไฟฟ้าจาก RE 100 เข้าระบบผ่าน “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม”

ขณะเดียวกันการเปิดซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ Peer-to-Peer (P2P) ผ่านโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำ เทคโนโลยีมาสนับสนุนให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) การทดสอบนวัตกรรมในโครงการที่มีการซื้อขายไฟฟ้า ที่มีการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าผ่านทาง (Wheeling Charge) ให้มีอัตราเท่ากันทุกโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Uniform Tariff โดยมีค่าเท่ากับ 1.151 บาทต่อหน่วย ยังเป็นอัตราที่แพงเกินไป ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือถึงภาครัฐเพื่อขอให้ทบทวนอัตราดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะหากรัฐกำหนดอัตราแพงเกินไปก็จะไม่ทำให้การซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ P2P เกิดขึ้นได้ แต่หากกำหนดอัตราถูกเกินไปก็อาจก็ทบต่อการไฟฟ้า ฉะนั้นก็ต้องหาอัตราที่เหมาะสม แต่สิ่งสำคัญคือ รัฐจะต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็วด้วย

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังได้ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงกับ “กลุ่มเด็นโซ่” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใช้ไฟฟ้าจาก RE 100 ภายในปีค.ศ.2035 และเพื่อรับมือกับการกีดกันทางการค้าจากอียูและสหรัฐ ที่เตรียมตั้งกำแพงภาษีสกัดสินค้านำเข้า โดยเตรียมเสนอผลักดันเข้าร่วมโครงการ ERC Pilot Project (Sandbox 2) ต่อไป

นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ ผู้แทนจาก RE100 Thailand Club มองว่า การจะผลักดันไปสู่ RE 100 ในประเทศไทยเป็นไปได้หากรัฐมีการแก้ไขกฎหมายให้ซื้อขายไฟฟ้าผ่านสายส่ง หรือเปิดทางให้เอกชนมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าRE ได้ในพื้นที่ใกล้กับโรงงาน โดยรัฐจะต้องปลดล็อกเรื่องของผังเมืองที่เป็นข้อจำกัดอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าผ่านสายส่งนั้น ปัจจุบัน เข้าใจว่าภาครัฐยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมใน 2 รูปแบบ คือ เปิดให้เอกชนซื้อขายไฟฟ้ากันเองแล้วรัฐเก็บค่าบริการผ่านสายส่ง หรืออีกรูปแบบคือ รัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจาก RE และ ESS เพียงรายเดียวแล้วออกบิลค่าไฟฟ้าแยกเก็บค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งรูปแบบตรงนี้ก็อยู่ที่ภาครัฐจะเป็นผู้ออกกติกาให้ชัดเจนต่อไปก็จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก RE 100 ได้  

นายทวี จงควินิต รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง มีความเป็นไปได้ แต่รัฐต้องจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการซื้อขายไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น โดยจะต้องมีเรื่องของระบบสมาร์ทกริด ระบบสมาร์ทมิเตอร์ เข้ามาร่วมเป็นต้น รวมถึงจัดทำให้เกิดการข้อมูลการซื้อขายไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะต้องจัดระบบลงทุนผลิตไฟฟ้าโดยต้องมีเรื่องของระบบไมโครกริดให้เกิดขึ้นเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มขนาดเล็ก หรือระบบชุมชนให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกลุ่มย่อยกันเอง ก่อนส่งขายไฟฟ้าข้ามสู่ระบบสายส่งหลัก

ตลอดจนเรื่องของดิจิตัลแพลตฟอร์ม ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อรองรับการซื้อขายดังกล่าว เพื่อทำให้เกิดการจับคู่ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ปัจจุบัน การซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของไทยยังเป็น “ระบบผู้ซื้อรายเดียว” (Enhanced Single Buyer) ฉะนั้นภาคนโยบายจะต้องปลดล็อกเรื่องนี้ก่อน และปักหมุดให้ชัดเจนเพราะการผลิตไฟฟ้าจาก RE 100 เป็นเป้าหมายของโลก ที่ไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประชาคมโลก ที่จะต้องมีส่วนร่วมลดปัญหาภาวะโลกร้อน และต้องทำทุกวิธีการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ทั้งการทำเรื่องลดการใช้พลังงาน (energy efficiency) ในปัจจุบัน สามารถดำเนินการได้ง่ายกว่าอดีตที่ผ่านมา เพราะการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานมีราคาถูกลง เอื้อต่อการทำเรื่องคาร์บอนเครดิตได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งสำคัญยังจะต้องทำควบคู่กับเรื่องการตรวจวัดและพิสูจน์ผล และต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ประเทศคู่ค้าให้การยอมรับ

รวมถึง เรื่องการเปิดให้ใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่ 3 (Third Party Access : TPA Code) เข้ามาซื้อขายไฟฟ้าในระบบสายส่งหลักได้ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าจาก RE 100 เกิดได้เร็วขึ้น เพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าอยู่รอดจากการตั้งกำแพงภาษีสกัดการนำเข้าสินค้าในอนาคต

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในภาคขนส่งที่มีสัดส่วนราว 20% จากภาคพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนสูงถึงราว 70% ฉะนั้น หลายประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้รถ EV และการจะผลักดันให้การใช้รถ EV เกิดขึ้นได้ จุดเริ่มต้นจะต้องมาจากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ทั้งการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตรถ

“รถEV เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ซึ่งยังไงรถ EV ก็เกิดขึ้นแน่ แต่จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วก็อยู่ที่นโยบายภาครัฐ วันนี้ ประเทศไทยรัฐบาลเดินหน้ากำหนดนโยบายและกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านผลิตรถ ICE ไปสู่รถEV ฉะนั้นรัฐกับเอกชนวันนี้ มีเป้าหมายตรงกันแล้ว และประเทศไทยก็มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับก็เชื่อว่ารถEV จะเกิดขึ้นแน่ และจะเป็นส่วนที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน”

อย่างไรก็ตาม  การส่งเสริมรถEV จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของอาเซียน และยังช่วยรักษาการเป็นฐานผลิตรถในระดับโลก ที่ปัจจุบันไทยน่าจะอยู่ในอันดับที่ 10 ที่มีการผลิตราว 2 ล้านคันต่อปี มีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 8 แสนคน และมีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนฯที่เกี่ยวข้องประมาณ 3,000 บริษัท ดังนั้น หากไทยไม่เร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ก็อาจทำให้ไทยสูญเสียฐานการผลิตรถในอนาคตได้