แนะลดภาษีสรรพสามิต กดราคาขายปลีกน้ำมัน

ผู้ชมทั้งหมด 663 

“พลังงาน” ชง กพช.5 พ.ย.นี้ หันเก็บเงินกองทุนอนุรักษ์ฯเหลือ 5 สตางค์ต่อลิตร ลดผลกระทบราคาน้ำมันแพง มั่นใจเงินกู้ 2 หมื่นล้านบาทตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรได้ถึง เม.ย.65 ลั่นเตรียมคลอดแพคเก็จส่งเสริมรถ EV ไม่เกิน ธ.ค.นี้ ด้าน ปตท.คาดราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูงถึงไตรมาส 1 ปี65 ขณะที่ “คุรุจิต”-“พรายพล” หนุนลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 1-2 บาทต่อลิตร ช่วยพยุงสถานะกองทุนน้ำมันฯ หวั่นติดลบหนัก   

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในการเสวนา “เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ?” ที่จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่ข่าวเศรษฐกิจ โดยระบุว่า การประชุมคณะกรรมการ​นโยบายพลังงานชาติ (กพช.) วันที่ 5 พ.ย.นี้ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ​เป็นประธาน ทางกระทรวง​พลังงาน จะรายงานเรื่องแนวทางบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพประชาชนจากราคาน้ำมันแพง ทั้งการเสนอพิจารณาหลักเกณฑ์การกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่สามารถใช้สิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้กู้เงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เพื่อนำมาพยุงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 3 ชนิด คือ ดีเซล บี7,บี10 และบี 20 ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยเบื้องต้นจะให้แนวทางการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ ซึ่งเมื่อผ่านการพิจารณาจาก กพช.แล้ว ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติ ก่อนส่งต่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง บรรจุกรอบเงินกู้เข้าไปรวมอยู่ในแผนก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งเงินกู้น่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงกลางเดือนม.ค.-ก.พ. ปี 2565

“ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเหลือเงินประมาณ 7,144 ล้านบาท ซึ่งจะดูแลราคาขายปลีกดีเซลทั้ง 3 เกรด ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ระหว่างเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะมีเงินกู้มาเพิ่มเติม ทำให้ดูแลราคาดีเซลได้จนถึงเม.ย.2565 บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบไม่เกิน 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือ ราคาขายปลีกดีเซลที่แท้จริงควรขึ้นไปอยู่ที่ 34-35 บาทต่อลิตร”

ส่วนการดูแลราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) หรือ ก๊าซหุงต้ม ถัง 15 กิโลกรัม ไว้ที่ราคา 318 บาทนั้น รัฐบาลจะยังตรึงราคาไปจนถึงเดือน ม.ค.ปี 2565 ซึ่งในส่วนนี้จะต้องใช้เงินประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน จะขอแยกการช่วยเหลือออกไปใช้ในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ของกระทรวงการคลังแทน เนื่องจากเป็นหนึ่งในมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ซึ่งจะต้องเสนอเข้า ครม.เพื่อบรรจุลงในแผนเงินกู้ด้วย

นอกจานี้ จะเสนอ กพช. พิจารณาลดการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จากปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 10 สตางค์ต่อลิตร ลดลงเหลือประมาณ 5 สตางค์ต่อลิตร เป็นเวลาประมาณ 1-2 ปี เพื่อลดผลกระทบราคาขายปลีกน้ำมัน และจะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนอนุรักษ์ฯแต่อย่างใด

ส่วนข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการรถบรรทุกที่ต้องการใช้ภาครัฐปรับลดและตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 25 บาทต่อลิตรนั้น ยอมรับว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะปัจจุบันราคาขายปลีกดีเซลที่แท้จริงควรอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร และมีแนวโน้มที่จะขึ้นไปแตะ 34-35 บาทต่อลิตร ซึ่งการที่กองทุนน้ำมันฯเข้าไปอุดหนุนราคาดีเซล 2 บาทต่อลิตร จะต้องใช้เงิน 3,000 ล้านบาท  และหากต้องอุดหนุนส่วนต่างขึ้นไปถึง 10 บาทต่อลิตรเพื่อดึงราคาดีเซลขายปลีกในอนาคตลงมาอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร ก็คาดว่า เงินกู้อีก 20,000 ล้านบาทก็ไม่เพียงพอ และยังไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้รถเบนซินด้วย

อีกทั้ง การปรับลดส่วนผสมไบโอดีเซล(บี100) ในน้ำมันดีเซลลงได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ เป็นนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงานที่ดำเนินการมาอย่างอย่างต่อเนื่องจึงเห็นว่าควรมีการผสมไบโอดีเซลต่อไป แต่ในอนาคตก็อาจปรับลดสัดส่วนการผสมจากสถานการณ์ได้

“ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันดิบถึง 89% การปรับขึ้น-ลง ของราคาน้ำมันจึงต้องอ้างอิงราคาตลาดโลก และการที่ราคาขายปลีกน้ำมันแพง เพราะมีโครงสร้างน้ำมันนอกจากมีราคาขายส่งที่เป็นต้นทุนหน้าโรงกลั่นแล้ว ยังมีบวกภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีVAT  มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ กองทุนอนุรักษ์ฯ รวมถึงค่าการตลาด ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 0.70-1.20 บาทต่อลิตร ต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร”

ส่วนการจะปรับลดอัตราภาษีในเนื้อน้ำมันได้หรือไม่ ก็เป็นอำนาจการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ซึ่งการจัดเก็บอัตราภาษีสรรพสามิตในน้ำมันก็เพื่อเป็นกลไกเครื่องมือของรัฐที่ต้องการนำรายได้ในส่วนนี้ ไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดวิกฤติต่างๆ

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด อีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เตรียมพิจารณาออกแพคเก็จมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนทั้งในส่วนของผู้นำเข้า และผู้ผลิตรถอีวี รวมถึงผู้ผลิตรถสันดาปฯ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้รถอีวีในประเทศ โดยจะมีการโปรโมทให้เกิดการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิแบตเตอรี่ ที่ถือเป็นต้นทุนสำคัญหรือกว่า 40% ของรถอีวี ซึ่งจะมีการใช้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอ สรรพสามิต ศุลกากร และกระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามาร่วม ขณะที่รัฐวิสาหกิจอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ก็จะร่วมกับภาคเอกชนผลิตแบตเตอรี่ออกมารองรับรถอีวี

ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้า ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณกว่า 2,000 แห่ง ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 แห่งใน 10 ปี และพัฒนาให้ครอบคลุมพื้นที่การใช้งานรวมถึงพัฒนากำลังไฟฟ้าให้รองรับการใช้งานของกลุ่มบ้านอยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ คอมโดมิเนีย เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัย คาดว่าจะออกแพคเก็จได้ไม่เกินช่วงเดือน ธ.ค.นี้

นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท.กำจัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ยังคงมีแนวโน้มตึงตัวอยู่ในระดับสูง จากปัจจัยหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์โควิด , กำลังการผลิตน้ำมันดิบ , การเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว , หรือการเปิดประเทศให้มีการเดินทางท่องเที่ยว

โดยประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จนถึงไตรมาส 1ปี 2565 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีโอกาสจะมีการขยับขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ กรณีปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นมีแนวโน้มที่ขยับไปในทางที่ดีขึ้น

“ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 67-68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปีหน้าบรรดานักวิเคราะห์มองว่า ราคาน้ำมันอาจจะพุ่งมาอยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์บาร์เรล ขณะที่ไตรมาส 2-3 ปีหน้า ก็มีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะเริ่มปรับลดลงได้เช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม ทิศทางราคาน้ำมันดิบ ยังต้องจับตาการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) จะมีทิศทางในเรื่องกำลังการผลิตอย่างไร โดยปัจจุบันกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก นั้นผลิตรวมกันที่ 27.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 30% ของการผลิตของโลก ซึ่งก่อนหน้านี้มีการระบุว่าทางกลุ่มมีแนวโน้มคงมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค.นี้ เพียง 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ตามข้อตกลงเดิม แต่ทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)  ประเมินว่า ความต้องการที่แท้จริงนั้น จะต้องมีการผลิตเพิ่มอีกกว่า 1.6 ล้านบาร์เรลต่อต่อวัน ฉะนั้นต้องจับตาดูว่า ผลการประชุมในวันที่ 4 พ.ย.นี้จะออกมาอย่างไร แน่นอนว่าหากไม่มีการปรับตัวเลขการผลิตเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก

นายคุริจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหตุผลที่ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงนั้น มาจากโครงสร้างทั้ง 7 ข้อ ได้แก่ 1.ต้นทุนราคาน้ำมันดิบแพงตามราคาตลาดโลก 2.ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ มีกลไก ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีVAT  มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ กองทุนอนุรักษ์ฯ รวมกันเกือบ 10 บาทต่อลิตร 3.ประเทศไทยมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องเก็บสำรองน้ำมันฯตามกฎหมาย ซึ่งเป็นต้นทุนในการเก็บสต็อก

4.ในเนื้อน้ำมันกำหนดให้มีส่วนผสมของไบโอดีเซล และเอทานอล ซึ่งเป็นต้นทุน 5.กำหนดให้โรงกลั่นน้ำมันต้องปรับปรุงมาตรฐานจากเดิม ยูโร3 เป็นยูโร4 ซึ่งทำให้คุณภาพน้ำมันของไทยสูงกว่าเพื่อนบ้าน และเป็นต้นทุนของโรงกลั่น 6.ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งจากปลายปี2563 เงินบาทอยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อดอลลาร์ และปัจจุบันอยู่ที่ประมาณเกือบ 34 บาทต่อดอลลาร์ เท่ากับเพิ่มขึ้น13% ฉะนั้น ไม่ว่าราคาตลาดโลกจะปรับขึ้นหรือไม่ แค่การอ่อนค่าลงของเงินบาทก็ส่งผลให้ต้นทุนราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นแล้ว และ7.ค่าการตลาด ซึ่งถือเป็นอัตรากำไรของผู้ค้าน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม หากจะช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลต่อไป​ ก็มีข้อเสนอว่า​ควรยกเลิกเพดานตรึงราคาน้ำมันดีเซล​ ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรที่ใช้มานานถึง​ 15​ ปี​ โดยควรขยับเพดานราคาน้ำมันดีเซลที่เหมาะสม​ขึ้นไปอยู่ที่  34​-35 บาทต่อลิตร​ ซึ่งจะสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ​ และสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก​ รวมถึง ปรับลดภาษีสรรพสามิตลง​  1-2​ บาทต่อลิตร​ จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่​ 5.99 บาทต่อลิตร​ พร้อมปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล ลงเหลือ​ 5% จากที่กำหนดไว้​ 7-10% เพื่อช่วยลดภาระของการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ

“ผมเข้าใจว่าสถานการณ์โควิด-19​ ทำให้กระทรวงการคลังเก็บภาษีได้ไม่เข้าเป้า​ โดยเฉพาะภาษี​VAT แต่ถ้ารัฐบาลยังมีนโยบายพยุงราคาน้ำมันต่อไป​ แล้วกองทุนน้ำมันฯ​ ก็ชัดเจนว่าไม่พอ”

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นกระทบกับผู้บริโภคค่อนข้างมาก รวมถึงมีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยระยะหนึ่ง เพราะในช่วงหลังราคาสินค้าและบริการเริ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากราคาขายปลีกน้ำมันที่สูงขึ้น อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย แต่ระดับปัจจุบันก็ถือว่ายังมีผลกระทบไม่มากนัก

“การจะปรับลดเก็บอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลงลิตรละ 5 บาท ซึ่งปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซลวันละ 60 ล้านลิตร เงินภาษีของรัฐจะหายไปเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท ปีละ 120,000 ล้านบาท คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้สรรพสามิตจากน้ำมัน คำถามคือ รัฐจะยอมหรือไม่ หากรายได้ภาษีสรรพสามิตลดลงปีละ 120,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ามากเกินไป”

ดังนั้น หากจะปรับลดภาษีลงลิตรละ 1-2 บาท ก็น่าจะสมควรมากกว่า เพราะวัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีสรรพสามิต คือการเก็บภาษีสินค้าสิ้นเปลืองต่างๆ แต่สรรพสามิตที่เก็บจากน้ำมันจะเปลี่ยนไปตรงที่ว่าต้องเก็บเพื่อเป็นภาษีคาร์บอนตามข้อตกลงประชาคมโลกเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ล่าสุด นายกฯได้เข้าร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือน กระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065