“แม็คโคร” จับมือ “ซีพี โฟตอน” นำร่องใช้รถ EV ให้บริการเดลิเวอรี่

ผู้ชมทั้งหมด 16,961 

“แม็คโคร” จับมือ “ซีพี โฟตอน” นำร่องใช้รถ EV ให้บริการจัดส่งสินค้า ตั้งเป้า 300 คันภายใน 3 ปี มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutral ในปี 2030 คาดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 2,500 ตันต่อปี

นายธนิศร์ เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจค้าส่งแม็คโคร ประเทศไทย กล่าวว่า แม็คโครมุ่งมั่นในการเป็นธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทานอย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2030 แม็คโครจึงจับมือกับบริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด ผู้นำเข้ารถ EV แบรนด์ระดับโลก “FOTON” นำรถขนส่งพลังงานไฟฟ้า มาทดลองให้บริการจัดส่งสินค้า (เดลิเวอรี่) แก่ลูกค้า ‘แม็คโคร โปร’ ในเขตบางบอน และปากช่อง – เขาใหญ่ พร้อมวางแผนเพิ่มจำนวนรถขนส่งพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง ตั้งเป้ามากกว่า 300 คัน หรือกว่า 150,000 เที่ยวต่อปี ภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าได้ถึง 2,500 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ถึง 114,000 ต้น

“แม็คโคร ตระหนักถึงปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5  และภาวะโลกร้อน ที่เป็นวิกฤติใน ขณะนี้ดังนั้นเราจึงเดินหน้าในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกวิถีทาง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของการทำธุรกิจ สำหรับภาคขนส่ง เราได้เริ่มนำรถพลังงานสะอาด หรือ รถ EV เข้ามาใช้ส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าแม็คโคร โปร โดยแม็คโครมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในทุกปีนับจากนี้ เริ่มจากพื้นที่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล หัวเมืองใหญ่ และจะขยายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งการเดินหน้าโครงการในครั้งนี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการธุรกิจค้าส่ง ในการปรับระบบโลจิสติกส์ สู่พลังงานสะอาด มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจสีเขียวตลอดห่วงโซ่” นายธนิศร์ กล่าวเสริม

โครงการนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจเคียงข้างการดูแลสิ่งแวดล้อมของแม็คโคร ซึ่งประกอบด้วยโครงการต่างๆ เช่น การลดขยะอาหารสู่การฝังกลบ โครงการสาขาประหยัดพลังงาน (Green Store) หรือการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จาก Solar Rooftop ทั้งนี้เพื่อเข้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 อีกทั้งยังเป็นการสอดคล้องกับแผนบริหารจัดการพลังงาน ของกระทรวงพลังงาน เพื่อลด PM 2.5 และก๊าซเรือนกระจก