“โออาร์” เปิดเวทีเจาะลึกเส้นทางธุรกิจไลฟ์สไตล์ บทเรียนความสำเร็จจากตัวจริง

ผู้ชมทั้งหมด 957 

ธุรกิจไลฟ์สไตล์ เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ขยายการลงทุนไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร สุขภาพ บิวตี้ และเวลเนส สำหรับธุรกิจในกลุ่มไลฟ์สไตล์ ที่โออาร์เข้าไปลงทุนนั้นมีอะไรบ้าง และทิศทางกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไรนั้นโออาร์ได้เปิดเวทีเสวนา Inclusive Growth Days empowered by OR ที่ผ่านมามีการพูดกันหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเริ่มจาก นายฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธัญ-ออริซ่า จำกัด บรรยายในหัวข้อ “Wellness Destinationจุดหมายที่ร่างกายได้ยิ้ม

ด้วยประเด็นที่ว่า “หลายคนอาจเข้าใจความหมายของคำว่า Wellness ว่าเป็นเรื่องของ Healthcare แต่ที่จริงหมายถึงสภาวะที่ร่างกายและจิตใจ ไม่เจ็บ ไม่ป่วย สุขภาพชีวิตสมดุล ใช้ชีวิตได้อย่างมีความหมาย ซึ่งต้องมีครบทั้ง 4 ประการนี้  แบรนด์ THANN ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 20 ปี ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวคิด ‘Keep  Delighting Your Customer’ หรือการรักษาความพึงพอใจของลูกค้าตลอดเวลา เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ดีต่อกาย ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพ ควบคู่กับการดูแลพนักงานให้มีความสุข สร้างแรงขับเคลื่อนให้มีแรงบันดาลใจตลอดเวลา สอดคล้องกับการเป็น Wellness Destination สำหรับทุกคน”

ตามด้วย นายฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองท์ กรุ๊ป ที่มาบรรยายในหัวข้อ Taste of Happinessรสชาติแห่งความสุข ด้วยเนื้อหาว่า “สมัยก่อนเวลาจะเลือกกิน หรือคิดถึงการทำธุรกิจร้านอาหารสักร้าน เราอาจไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องอื่น ๆ นอกจากความอร่อยมากนัก แต่สำหรับ MK เราเริ่มตั้งแต่การใส่ใจในความปลอดภัยของอุปกรณ์หุงต้ม วัตถุดิบที่สด สะอาด

นอกจากนั้น เรายังเป็นผู้นำในด้านการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า เช่น บริการถ่ายรูปหมู่ บันทึกภาพความประทับใจเมื่อลูกค้าเข้ามารับประทานอาหาร, กิจกรรม  MK Dance ให้พนักงาน MK เต้นในช่วงเวลาต่าง ๆ มอบประสบการณ์ความบันเทิง  และการใส่ใจในความสะดวกสบายของลูกค้า ติดตั้ง iPad ให้สั่งอาหารอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอพนักงานมาคอยรับออเดอร์

กุญแจสำคัญในการทำธุรกิจของ MK หนึ่งคือเรามีการปรับปรุงและพัฒนาตลอดเวลา สอง เรามีวิสัยทัศน์ที่เห็นปัญหาและโอกาสในระดับรากลึก ไม่ใช่แค่ผิวเผิน การทำธุรกิจอาหารต้องอยู่บนพื้นฐานของการมอบความสุข ลูกค้าจะมีความสุขผ่านการรับประทานอาหารที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ”

นอกจากนี้ยังได้เสวนาในหัวข้อ Beyond Food มากกว่าอาหารแต่คือสุขภาพที่ดีขึ้น กับเหล่าผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายชลากร เอกชัยพัฒนกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (โอ้กะจู๋), นางสาวกุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด, นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) และนายสมยศ คงประเวช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจไลฟ์สไตล์ โออาร์

โดย นายสมยศ กล่าวเปิดประเด็นว่า “การทำธุรกิจของ โออาร์ นั้นเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น ธุรกิจ Café Amazon เกิดมาจากการที่เราเล็งเห็นโอกาสว่าลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ PTT Station สามารถทำอะไรได้มากกว่าแค่เติมน้ำมัน อาจจะอยากรับประทานเครื่องดื่มเต็มความสดชื่น โดยปัจจุบัน Café Amazon ได้กระจายสาขาไปทั่วโลกมากถึง 4 พันสาขา และจากเทรนด์รักสุขภาพที่กำลังมาแรง จึงได้เพิ่มแนวคิดนี้ลงไปในบริการและผลิตภัณฑ์ของเรา เช่น มีเมนูเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่สามารถเลือกระดับความหวานได้ตามที่ต้องการ นอกจากนั้น ร้าน Texas Chicken ของเราก็ได้มีการเพิ่มเมนูที่เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น”

ด้าน นางสาวกุลพัชร์ ได้กล่าวถึงแนวทางปรับตัวธุรกิจของร้าน After You ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ว่า “การปิดห้างฯ ในช่วงล็อคดาวน์ทำให้เราต้องรับมือกับรายได้ที่หายไปจากลูกค้าหน้าร้าน โชคดีที่เรามีแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่อยู่แล้ว แต่ก็ได้เพิ่มส่วนของ Marketplace นำอาหาร-เครื่องดื่ม-สินค้าอื่น ๆ มาวางขาย ช่วยเติมเต็มช่องว่างที่ไม่สามารถเปิดร้านได้ปกติ อีกทั้งยังมีการแตกแบรนด์ ‘ลูกก๊อ’ ร้านผลไม้พร้อมทานเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ  ทั้งนี้ การที่เราไม่ได้ขยายสาขาอย่างรวดเร็วนัก แต่ขยับขยายตามกำลังที่ตัวเองทำได้ เพราะเราอยากเติบโตอย่างยั่งยืนโดยรักษาคุณภาพให้ยาวนานที่สุด”

ขณะที่ นายชลากร ได้เล่าถึงที่มาและแนวคิดในการทำร้านอาหารเพื่อสุขภาพว่า “โอ้กะจู๋ เกิดขึ้นมาด้วยแนวคิด Organic + Family เราอยากให้คนในครอบครัวมีสุขภาพดีจากการกินผักปลอดสารพิษ ซึ่งในตอนนี้ เรากำลังพัฒนาแบรนด์อย่างต่อเนื่อง  รวมถึงการร่วมมือกับ โออาร์ เพื่อขยายสเกลธุรกิจให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น และหลากหลายยิ่งขึ้น” และสุดท้าย แดน ได้กล่าวเสริมประเด็นธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพว่า “การหันมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพกันให้มากขึ้นสามารถช่วยโลกได้ เพราะ 30% ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยบนโลกตอนนี้มาจากวงการปศุสัตว์ วัวหนึ่งตัวสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 50 ตันตลอดช่วงชีวิต เมื่อเราหันมาบริโภคอาหาร Plant-based มากขึ้น ลดการทำปศุสัตว์ลง ก็เป็นการลดภาวะโลกร้อนได้ และผู้บริโภคยังได้ประโยชน์เรื่องสุขภาพดีขึ้นอีกด้วย”

ปิดท้ายกับเวทีเสวนาในหัวข้อ “All Lifestyles for Good Healthตอบโจทย์การใช้ชีวิต กับสุขภาพที่คุณเลือกได้ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) นพ. สุทธิชัย โชคกิจชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) และนางสาววิภาวี วงศ์สิริศักดิ์ CCO และผู้ร่วมก่อตั้งโกวาบิ

นพ.สุทธิชัย ได้อธิบายถึงความหมายของ Telemedicine ว่า “คือการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเชื่อมต่อการให้บริการระหว่างคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์ ลดข้อจำกัดในการเดินทาง และเวลาลงได้มาก ช่วงโควิด-19 Telemedicine มีบทบาทเด่นชัดขึ้น ซึ่งความท้าทายในการสร้าง Telemedicine มี 3 ประการ คือ การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้คนไข้ได้คุ้นชิน ตามด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้าง Personal Health Profile เชื่อมต่อข้อมูลของคนไข้เข้าสู่โลกดิจิทัล และการสร้าง Partnership ให้เกิดขึ้นใน Healthcare Ecosystem แต่การมี Telemedicine ไม่ได้หมายความว่าบทบาทของการไปโรงพยาบาลจะลดลง เรายังต้องจำแนกผู้ป่วยเป็นหลายระดับ ดูความจำเป็นของผู้ป่วยว่าสมควรพบแพทย์แบบตัวต่อตัวหรือไม่ Telemedicine เพียงแค่ลดภาระการทำงานที่ไม่จำเป็นของบุคลากรทางการแพทย์ลง”

ตามด้วย นายวสิษฐ ที่กล่าวถึงจุดเด่นของเบทาโกรว่า “นอกจากความเด่นในเรื่องผลิตภัณฑ์ เรายังเป็น Solution Provider เรามีจุดแข็งในเรื่องของการสร้างจุดเด่นที่แตกต่างด้วยการส่งมอบอาหารที่คุณภาพดีกว่า มีความปลอดภัยมากกว่า ซึ่งมาจากเทคโนโลยีที่ทำให้วัตถุดิบมีความปลอดภัย และคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้ ปัจจุบัน เบทาโกรมีสัดส่วนในการผลิตโปรตีนให้กับคนไทยมากถึง 15% นอกจากด้านผลิตภัณฑ์แล้ว เรายังทำงานร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าของเราแบบ Inclusive ตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงเกษตรกรทั่วประเทศ และเรายังนำมาตรการเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัย การบริหารต้นทุน และอื่น ๆ เข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพของร้านอาหารต่าง ๆ เพื่อการสร้าง Ecosystem ด้านอาหารให้ยั่งยืน และทุกคนสามารถเติบโตไปด้วยกันได้”

ปิดท้ายด้วย นางสาววิภาวี ที่กล่าวถึงการดำเนินธุรกิจ Beauty Lifestyle ว่า “โกวาบิ คือแพลตฟอร์มด้านความงามที่เริ่มต้นจากโฟกัสไปที่กลุ่มลูกค้าผู้ชายที่อยากได้แอปที่สามารถจองคิวตัดผมให้โดยไม่ต้องโทรจอง จึงเกิดเป็นโกวาบิที่ให้บริการเรื่องนี้ในคลิกเดียว จากนั้นก็ขยายฐานลูกค้าไปสู่ผู้หญิง เพิ่มเรื่องของสปา นวด คลินิค ฟิตเนส ฯลฯ เพราะคำว่าไลฟ์สไตล์เป็นสิ่งที่กว้างมาก เราสามารถที่จะต่อยอดไปยังเรื่องต่าง ๆ ได้อีกไกล เพื่อตามให้ทันความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความหลากหลายบนแพล็ตฟอร์มของเรา และเราต้องทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการเริ่มต้นดูแลตัวเองก่อน ไม่ใช่เจ็บป่วยแล้วค่อยรักษา”